Update เศรษฐกิจเมียนมา ไตรมาสสุดท้ายของปี ๒๕๖๑

21 Dec 2018

  

๑.           ภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมา

.๑ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ รัฐสภาเมียนมาเห็นชอบการจัดตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Ministry of Investment and Foreign Economic Relations) เป็นกระทรวงที่ ๒๕ ของเมียนมา เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงใหม่นี้ จะช่วยให้การลงทุนจากทั้งประเทศและต่างประเทศคล่องตัว    มากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมาได้แต่งตั้งให้นายตอง ตุน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนฯ โดยก่อนหน้านี้ นายตอง ตุน ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคง รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐบาล และประธานคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (Myanmar Investment Commission – MIC)

๑.๒ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ World Bank เผยแพร่รายงาน Myanmar Economic Monitor December 2018 โดยมีนัยว่า

                                     () แม้ว่าเศรษฐกิจเมียนมายังมีอัตราการเติบโตที่สูงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโต     ทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนและความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคมีมากขึ้น สืบเนื่องจากความไม่แน่นอน (uncertainty) และความเสี่ยงจากปัจจัยภายในและภายนอก

() World Bank คาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาจะลดลงจากร้อยละ ๖.๘ ในปี      งบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ เหลือร้อยละ ๖.๒ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒

                                      () การเติบโตของภาคเกษตรอยู่ในระดับที่ดีที่ร้อยละ ๑.๒ เมื่อคำนึงถึงอุทกภัยในพื่นที่เกษตร และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาคโทรคมนาคมกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง (growing strongly) อย่างไรก็ดี การเติบโตในภาคการผลิต การก่อสร้าง และ      การขนส่ง ชะลอตัว เนื่องจากการลงทุนที่ชะลอตัว  ค่าต้นทุนสูง และอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนตัวลง

                                      () เงินจั๊ตอ่อนตัวลงร้อยละ ๑๘ ในช่วงเมษายน –  ตุลาคม ๒๕๖๑ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดย World Bank คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น จากร้อยละ ๕.๔ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ เพิ่มเป็นร้อยละ ๘.๘ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ – ๒๕๖๒

                      () World Bank คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะฟื้นตัวและเติบโตได้ร้อยละ ๖.๖ ภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ – ๒๕๖๔ เนื่องจากการลงทุนจากภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น    และการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา อาทิ การเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในสาขาค้าปลีกและขายส่ง การเปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนภาคบริการมากขึ้น การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติปล่อยเงินกู้แก่บริษัทท้องถิ่น และ   การบังคับใช้กฎหมายบริษัทเมียนมา (Myanmar Companies Law) เป็นต้น

                      () ความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมา ได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ในรัฐยะไข่ การที่สหภาพยุโรปอาจพิจารณาถอนสิทธิ GSP และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ World Bank คาดการณ์ว่า การขาดดุลงบประมาณของเมียนมาจะสูงขึ้นจากร้อยละ ๒.๗        ของ GDP ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ เพิ่มเป็นร้อยละ ๔ – ๔.๕ ของ GDP ใน ๒ ปี ข้างหน้า

๑.๓ โดยที่เมียนมามีศักยภาพสูงด้าน e-commerce เนื่องจากการก้าวกระโดด (leapfrog) ยุคของห้างสรรพสินค้าไปสู่ยุคดิจิตอล ชาวเมียนมาเริ่มสนใจการซื้อของออนไลน์มากขึ้น และ     หาก เมียนมาสามารถพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับความตกลง ASEAN e-commerce ซึ่งประเทศสมาชิก       ลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ได้แล้ว e-commerce ในเมียนมาจะเติบโตเร็วขึ้น เนื่องจาก      ความตกลงดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมระหว่างประเทศเพื่อรองรับ e-commerce

๒.           นโยบายด้านเศรษฐกิจ

๒.๑ รัฐบาลเมียนมาได้ปฏิรูปภาคการเงินมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ (๑) การออกกฎหมาย    ด้านสถาบันการเงินเมื่อปี ๒๕๕๙ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเมื่อปี ๒๕๖๐ (๒) การอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการส่งออก (export financing) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ (๓) การอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างาชาติในเมียนมาให้เงินกู้แก่บริษัทท้องถิ่น ทั้งในเงินสกุลจั๊ตและสกุลต่างชาติ รวมทั้งบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้า เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ จากเดิมที่สามารถให้เงินกู้แก่บริษัทต่างชาติในสกุลเงินต่างชาติเท่านั้น นอกจากนี้ ธนาคารต่างชาติสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่ให้เงินกู้ในสกุลต่างประเทศ (๓) การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติมาเปิดสาขาในเมียนมาเพิ่มขึ้น และอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติที่มีสาขาในกรุงย่างกุ้งแล้วสามารถขอเปิดสาขาเพิ่มเติมในเมียนมาได้         ในปี ๒๕๖๒ (ปัจจุบัน ธนาคารต่างชาติสามารถขอเปิดสาขาได้ ๑ แห่งในกรุงย่างกุ้ง)

                      การปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะการเปิดให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถให้บริการมากขึ้นแก่ท้องถิ่น จะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารท้องถิ่นพัฒนาตนเองเพื่อสามารถแข่งขันกับธนาคารต่างชาติได้ และส่งผลดีต่อการเสริมสร้างระบบทางการเงินของเมียนมาให้เข้มแข็งขึ้นในระยะยาว

๒.๒ รัฐบาลเมียนมามีนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในประเทศและกับประเทศ เพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ๔ เส้นทาง ได้แก่ (๑) ระเบียงเศรษฐกิจย่างกุ้ง-เมียวดี เพื่อเชื่อมโยงชายแดนไทย-เมียนมา กับเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา โครงการร่วมทุนระหว่างเมียนมากับญี่ปุ่นในกรุงย่างกุ้ง (๒) ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เพื่อเชื่อมโยงกรุงย่างกุ้งกับมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น (๓) ระเบียงเศรษฐกิจตะวักออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ โครงการร่วมทุนระหว่างเมียนมากับจีนในรัฐยะไข่ กับเมืองมูเซในรัฐฉานที่ติดชายแดนกับจีน และ (๔) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเชื่อมโยงเมียนมากับอินเดีย จีน และไทย

๒.๓ การส่งเสริมความเชื่อมโยงและการท่องเที่ยว อาทิ (๑) การเปิดสะพานมิตรภาพ       เมียนมา-ลาว เพื่อเชื่อมโยงเมืองท่าขี้เหล็กในรัฐฉานกับแขวงหลวงน้ำทาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อเดือนกันยายน  ๒๕๖๑ ต่อด้วยการยกระดับด่านเมียนมา-ลาว ที่เมืองท่าขี้เหล็ก ให้เป็นด่านถาวร     เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ (๒) ประกาศนโยบาย visa on arrival สำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางเข้า เมียนมาผ่านท่าอากาศยานนานาชาติที่กรุงเนปิดอ กรุงย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๑

๓.           การค้าการลงทุน

๓.๑ นาย Yan Naing Tun ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน เมียนมาเน้นการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ และเพิ่มการส่งออก             ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศของเมียนมามีพัฒนาการที่ดีในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ ดังนี้

 

หน่วย/พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐

ปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ

๒๘.๘๐๑

๓๓.๕๔๔

มูลค่าการส่งออก

๑๑.๖๒๐

๑๔.๘๕๘

มูลค่าการนำเข้า

๑๘.๖๘๖

๑๗.๑๒๐

ขาดดุลการค้า

๕.๕

๓.๘๒๘

 

๓.๒ การส่งออกทางทะเล ร้อยละ ๗๗ และการส่งออกทางบก ร้อยละ ๒๓ ขณะที่การค้าชายแดนที่สำคัญ คือผ่านเมืองมูเซ ซึ่งติดชายแดนกับจีน เป็นมูลค่าร้อยละ ๗๐ ทั้งนี้ คู่ค้าอันดับต้นของเมียนมา คือ จีน ไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามลำดับ

๓.๓ มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศลดลงจาก ๖.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ             ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ เหลือ ๔.๓๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑    โดยสาขาที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม นิคมอุตสาหกรรม โรงแรมและ   การท่องเที่ยว และภาคการผลิต รองลงมาคือสาขาปศุสัตว์และการประมง พลังงาน การขนส่ง ภาคโทรคมนาคม และบริการอื่น ๆ 

๓.๔ นาย Htun Htun Naing คณะกรรมการ สหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรม เมียนมา (Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry – UMFCCI)       ให้สัมภาษณ์กับสื่อเมียนมาว่า เมียนมามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินเดีย สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา ในพื้นที่รัฐคะฉิ่น รัฐชิน รัฐยะไข่ รัฐฉาน ภาคตะนาวศรี        ภาคย่างกุ้ง และภาคมัณฑะเลย์ โดยเฉพาะในสาขาการผลิต สิ่งทอ พลังงาน การท่องเที่ยว่ การศึกษา ผลิตภัณฑ์อาหาร (food products) บริการด้านการแพทย์ โครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมียนมาส่งเสริมการลงทุนจากอินเดียในรัฐยะไข่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีชายแดนติดต่อกับอินเดียที่มีศักยภาพสูงด้านเศรษฐกิจและการสร้างงานในพื้นที่

๔.           รายงานผลสำรวจความพึงพอใจของสภาหอการค้าสหภาพยุโรปในเมียนมา ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๑  

(๑) ร้อยละ ๘๑ ของบริษัทจากยุโรปในเมียนมาไม่พอใจ (not happy) กับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเมียนมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๐ (ร้อยละ ๗๖) และปี ๒๕๕๙ (ร้อยละ ๖๗) 

(๒) ร้อยละ ๔๕ เห็นว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเมียนมาแย่ลงในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมา    ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖๐ (ร้อยละ ๓๐) และปี ๒๕๕๙ (ร้อยละ ๑๘)

(๓) ร้อยละ ๓๗ ได้รับผลกำไรจากธุรกิจในเมียนมาในช่วงปีที่ผ่านมา ลดลงจาก ปี ๒๕๖๐ (ร้อยละ ๔๑) และปี ๒๕๕๙ (ร้อยละ ๕๐)

(๔) บริษัทยุโรปเห็นว่า ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (economic nationalism) ในเมียนมา เพื่อปกป้องธุรกิจท้องถิ่นจากการแข่งขันกับบริษัทต่างประเทศ ส่งผลในเชิงลบต่อการดำเนินธุริจของบริษัท ต่างประเทศในเมียนมา นอกจากนี้ ยังมีประเด็นท้าทายเรื่องการนำกฎระเบียบด้านธุรกิจไปสู่การปฏิบัติ     การขาดแรงงานที่มีทักษะสูง และความไม่แน่นอนด้านกฎหมาย (legal uncertainty) โดยสภาหอการค้ายุโรปในเมียนมามีข้อเสนอแนะให้เมียนมา (๑) เพิ่มขีดความสามารถของศาลเมียนมาในการบังคับใข้กฎระเบียบและสัญญาด้านธุรกิจ (๒) เร่งการประกาศใช้กฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (๓) พัฒนาสถาบันทางการเงิน (financial institutions) (๔) พัฒนากลุ่มธุรกิจที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (fin tech) และ     (๕) อนุญาตให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเงินของเมียนมามากขึ้น  

                   

*******************************************

 

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา

๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๑


« Back to Result