เมียนมาออกกฎหมายเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone Law)

15 Jun 2020
เมียนมาออกกฎหมายเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone Law)

เมียนมาออกกฎหมายเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone Law)

เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ รัฐสภาเมียนมาได้อนุมัติให้กฎหมายเขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone Law) มีผลบังคับใช้ โดยก่อนหน้านี้ เมียนมาไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องเขตอุตสาหกรรม ปัจจุบัน กระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม เมียนมา กำหนดให้มีพื้นที่ ๒๙ แห่ง เป็นเขตอุตสาหกรรมกระจายไปตามภาคและรัฐต่าง ๆ ได้แก่ ภาคมัณฑะเลย์ ๓ แห่ง ภาคย่างกุ้ง ๑๐ แห่ง ภาคอิระวดี ๓ แห่ง ภาคมะก่วยและรัฐมอญที่ละ ๒ แห่ง ภาคพะโค ภาคตะนาวศรี ภาคสะกาย รัฐชิน รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐยะไข่ รัฐคะยา และกรุงเนปิดอ ที่ละ ๑ แห่งนอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนร่วมจากภาคเอกชน เช่น โครงการ Yangon Amata Smart & Eco City โครงการเมืองอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกรมการพัฒนาเมืองและการเคหะ กระทรวงก่อสร้างเมียนมากับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในเขตอุตสาหกรรม
๑. การผลิตผลิตภัณฑ์ (
finished products) และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มมูลค่าสินค้า
    และการบรรจุสินค้า
๒. การคมนาคม การขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงถนน
๓. การบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต
๔. การค้าภายในและระหว่างประเทศ

 

สัดส่วนของเขตอุตสาหกรรม ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม ร้อยละ ๖๐-๗๐ พื้นที่การค้าร้อยละ ๑-๕ สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ร้อยละ ๒๐-๒๕ และพื้นที่สีเขียว ร้อยละ ๙-๑๐

ผู้ลงทุนจะต้องยื่นคำร้องไปที่ Regional Industrial Zones Development and Management Committee (“Regional Committee”) ซึ่งจะส่งเรื่องให้ Industries and Industrial Zone Development Central Committee (“Central Committee”)  (กม. กำหนดให้มีการจัดตั้ง คกก. ทั้ง ๒ ชุดนี้) พิจารณาอนุมัติ

          สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ได้แก่

- ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิยกเว้นการชำระภาษีเงินได้ระยะเวลา ๓ หรือ ๕ หรือ ๗ ปี ขึ้นอยู่กับการพัฒนาในพื้นที่

- สิทธิในการถือครองที่ดินเป็นระยะเวลา ๕๐ ปี และสามารถต่ออายุการถือครองได้ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑๐ ปี

- Central Committee จะออกประกาศเพื่อให้สิทธิประโยชน์พิเศษ (Special Incentives) แก่การลงทุน ดังนี้ (๑) อุตสาหกรรมในเขตที่มีการพัฒนาต่ำ (๒) การลงทุนที่สร้างงานสร้างอาชีพเป็นจำนวนมาก (๓) การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและสินค้าปฐมภูมิ  (๔) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรทางการเกษตร และ (๕) การเพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกและสินค้าที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ 

        
          หากผู้ลงทุนที่ได้ถือครองที่ดินแล้วยังไม่ดำเนินการใด ๆ จะต้องยื่นแผนธุรกิจ (Business Plan) ภายใน ๒ ปี และหากผู้ลงทุนไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนธุรกิจ Regional Committee จะพิจารณาขอคืนพื้นที่ร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้กับนักลงทุนรายอื่น

          กฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงการดำเนินการของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและมีความโปร่งใส เช่นเดียวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมียนมาอย่างยั่งยืน (Myanmar Sustainable Development Plan-MSDP) และการบรรลุเป้าหมายที่ ๓ ของ MSDP การสร้างงานและการที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ แผนปฏิบัติการ ๓.๓.๗ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตอุตสาหกรรมบนพื้นฐานการวางแผนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งคำนึงผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาชุมชน

          สำหรับโอกาสที่นักธุรกิจไทยควรจับตามองคือ การเข้ามาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมของเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อรองรับการพัฒนาการค้าและการลงทุนข้ามชายแดน ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมลอยกอ รัฐคะยา(ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เขตเศรษฐกิจเมียวดีและเขตอุตสาหกรรมพะอัน รัฐกะเหรี่ยง (ตรงข้าม) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก) เขตอุตสาหกรรมเมาะลำไย และโครงการ Southern Myanmar Development (SMD) รัฐมอญ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภาคตะนาวศรี (ตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี) และเขตอุตสาหกรรมมะริด ภาคตะนาวศรี (ตรงข้ามจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) อันจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) การพัฒนาธุรกิจคมนาคมและโลจิสติกส์ ตลอดจนการกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ

 

************************************

  ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา
   สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง
    ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๓

 

 

 


« Back to Result