การประชุม Myanmar Global Investment Forum ครั้งที่ ๕

11 Nov 2016

เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ บริษัท EuroMoney ผู้จัดการประชุมเพื่อส่งเสริม การลงทุนระหว่างประเทศ (สำนักงานใหญ่อยู่กรุงลอนดอน) และคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Commission - MIC) ได้ร่วมจัดการประชุม Myanmar Global Investment Forum ครั้งที่ ๕ ที่เนปิดอว์ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า ๑,๓๐๐ คน (สูงสุดของจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุม EuroMoney ในเอเชีย) ประกอบด้วยทั้งผู้แทนภาครัฐ มม. (ซึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๓๖ คน) ภาคเอกชนเมียนมาและต่างประเทศ รวมทั้งนักวิจัย สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังกล่าว ดังนี้

๑. ภาพรวม นาย Tony Shale, CEO ของ EuroMoney ในเอเชีย ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยกล่าวถึงพัฒนาการในเชิงบวกด้านเศรษฐกิจของเมียนมาโดยอ้างการวิเคราะห์ของ ADB ที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตกว่าร้อยละ ๘ ในปี ๒๕๕๙ เนื่องจากการเติบโตในภาคการเกษตร การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมากว่า ๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี ๒๕๕๘ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมา อาทิ กฎหมาย การลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมา และจำนวนธนาคารต่างชาติในเมียนมาซึ่งเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

๒. ปาฐกถาของนาย Kyaw Win รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการคลังเมียนมา กล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจของเมียนมาซึ่งเน้นประเด็น

(๑) การส่งเสริมการเติบโตอย่างเข้มแข็งและทั่วถึง รวมทั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุน ระหว่างประเทศ และการปฏิรูปสถาบันด้านการเงิน ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกระบวนการสันติภาพที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง

(๒) การมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับการสร้างงาน และการลงทุนจาก ต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง (labour intensive industries) รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ ของเมียนมาให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน (investment destination) และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนให้ดีขึ้น อาทิ การปรับปรุงกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) และการอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาธนาคารในกรุงย่างกุ้ง

(๓) การขยายความร่วมมือในกรอบอาเซียนจะช่วยดึงให้นักลงทุนในเมียนมาเป็นฐาน ในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนมากขึ้น

(๔) การร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า เพื่อขยายจำนวนผู้เข้าถึงไฟฟ้าจากร้อยละ ๓๐ เป็นร้อยละ ๑๐๐ ในปี ๒๕๗๓

๓. การเสวนาเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ นักวิชาการและภาคเอกชนได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ ดังนี้

(๑) เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเติบโตเร็วที่สุดในโลก และมีศักยภาพที่จะขยายตัว ๓ เท่าภายในปี ๒๕๗๓ เป็น ๒๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปี ๒๕๕๘ เมียนมามีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน ๙.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกของเมียนมามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น

(๒) รัฐบาลต้องบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริม การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ส่งเสริมระบบประกันภัย ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษา

(๓) โอกาสการลงทุนสำคัญ ๒ สาขาในเมียนมา ได้แก่ ภาคการเกษตร โดยนักลงทุนสามารถช่วยเมียนมาโดยเน้นการเพิ่มผลผลิตและมูลค่าการส่งออก และการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคใหม่ ๆ โทรคมนาคม โดยเฉพาะด้านบริการการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ชุมชนในชนบทเข้าถึงแหล่งทุน

(๔) ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยรัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชน และเน้น การขนส่งและโลจิสติกส์

๔. การเสวนาเรื่องการลงทุนใน มม. อธิบดีกรมบริหารการลงทุนและบริษัทเมียนมา และภาคเอกชนได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมา ดังนี้

(๑) รัฐบาลเมียนมาได้ปรับปรุงกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศด้วยการหารือกับ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายครั้ง และได้นำร่างกฎหมายฯ ภายหลังการหารือขึ้นบนเว็บไซต์ MIC ทุกครั้ง เพื่อ ความโปร่งใส การปรับปรุงกฎหมายฯ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ให้รวมกฎหมายการลงทุนของเมียนมา ๒ ฉบับเป็นฉบับเดียว

(๒) กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ มอบอำนาจในการอนุมัติข้อเสนอโครงการลงทุนให้แก่รัฐบาลระดับภูมิภาค โดยนักลงทุนที่ลงทุนในพื้นที่ที่มีระดับการพัฒนาต่างกัน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร (tax incentive) แตกต่างกันไป หากลงทุนในพื้นที่ด้อยพัฒนา พัฒนาปานกลาง และพัฒนาแล้ว จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นจำนวน ๗, ๕ และ ๓ ปีตามลำดับ

(๓) นักลงทุนต่างชาติต้องการให้มีเสถียรภาพทั่วประเทศเมียนมารวมทั้งเสถียรภาพในระบบการเก็บภาษี (stable tax regime) และความชัดเจนด้านนโยบายในสาขาต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ จึงเสนอให้รัฐบาลประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้มากขึ้น (more information campaigns)

(๔) ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลสนับสนุน SME เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มต้องการสร้างธุรกิจของตนเอง และผู้บริโภคก็ประสงค์ที่จะมีทางเลือกด้านสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศ ในเมียนมาร้อยละ ๗๕ มาจาก SME

๕. การเสวนาเรื่องภาคการคลังเมียนมา และการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการคลัง ผู้แทนธนาคารเมียนมา ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ International Monetary Fund (IMF) และ NORFUND องค์กรของประเทศนอร์เวย์ที่ลงทุนด้านการเข้าถึงการเงิน (access to finance) และพลังงานในเมียนมา ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมา ดังนี้

(๑) ในปี ๒๕๕๙ ธนาคารเมียนมาสามารถปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร ทำธุรกรรมออนไลน์ และเริ่มให้บริการการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ขณะนี้ ร้อยละ ๘๕ ของประชากรเมียนมามีโทรศัพท์มือถือ และการพัฒนาบริการการเงินผ่านโทรศัพทย์มือถือจะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึง (financial inclusion) และสนับสนุนครอบครัวที่มีรายได้น้อย (help low income families) ทั้งนี้ ปัจจุบันมีตู้ ATM ในเมียนมาจำนวน ๒,๐๐๐ เครื่อง

(๒) ภาคธนาคารเสนอให้รัฐบาลเมียนมาขยายขอบเขตการทำงานของธนาคารต่างชาติ ในเมียนมาให้ทั่วถึง ไม่จำกัดเฉพาะในย่างกุ้งเท่านั้น

๖. การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ในเมียนมา ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้แทนธุรกิจ F&B ในเมียนมาให้ข้อมูลว่า F&B ของเมียนมาเป็นสาขาที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย และเมียนมามีศักยภาพที่จะเป็น “ครัว” ให้จีนและอินเดีย นักลงทุนต่างชาติต้องเข้าใจค่านิยมของผู้บริโภคเมียนมา และร่วมมือกับหุ้นส่วนท้องถิ่นในการสร้างสินค้าท้องถิ่น (localized product) การสร้างแบรนด์ การเพิ่มความหลากหลายด้าน F&B ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม F&B ทั้งนี้ ปัจจุบัน คนเมียนมาเริ่มเข้าภัตตาคารในโรงแรมมากขึ้น และมีภัตตาคารในเมียนมาจำนวน ๕๗๗ แห่งบนเว็บไซต์ TripAdvisor

๗. การเสวนาเรื่องพลังงาน อธิบดี กระทรวงพลังงานไฟฟ้าและพลังงานเมียนมา ผู้แทน World Bank ภาคเอกชน และที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท Myanmar Legal Services ได้ให้ข้อมูล และข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมา ดังนี้

(๑) เมียนมามีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นพลังงานได้ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำ แสงอาทิตย์ และถ่านหิน แต่เป็นถ่านหินที่คุณภาพต่ำ เมียนมาจึงนำเข้าถ่านหินจาก อินโดนีเซีย ทั้งนี้ เมียนมาอาจศึกษาโครงการไฟฟ้าพลังถ่านหินของ EGAT ที่ใช้ถ่านหินคุณภาพต่ำ แต่สามารถจัดการมลภาวะได้

(๒) World Bank ให้เงินกู้แก่รัฐบาลเมียนมาจำนวน ๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาพลังงานในเมียนมาช่วง ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ และ International Finance Corporation ได้ให้คำปรึกษาแก่ กระทรวงพลังงานไฟฟ้าฯ เกี่ยวกับการดำเนินโครงการอย่างยั่งยืน และการใช้พลังงานทดแทน

(๓) รัฐบาลเมียนมามีนโยบายให้ประชาชนในเขตพาณิชย์และอุตสาหกรรมเข้าถึงไฟฟ้าโดยเร็ว รวมทั้งได้วางแผนการพัฒนาไปในภูมิภาคต่าง ๆ

(๔) จีนและไทยต้องการพลังงานจากเมียนมาจำนวนมาก

(๕) นักลงทุนจะต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในโครงการด้านพลังงานตั้งแต่เริ่มต้น

๘. การเสวนาเรื่องความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรม รองอธิบดีกระทรวงการก่อสร้าง ผู้แทน Asian Development Bank (ADB) และภาคเอกชน ได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมา ดังนี้

(๑) เมียนมามีศักยภาพด้านความเชื่อมโยงสูง โดยขณะนี้ เมียนมาอยู่ระหว่างการพัฒนาถนนเส้นทาง Mandalay, Muse และอินเดีย และเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาถนนระหว่าง Pathein กับกรุงเทพฯ

(๒) รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการขนส่งและพลังงาน โดย ADB มีข้อเสนอแนะให้ร่วมมือกับภาคเอกชน

(๓) ภาคเอกชนเห็นถึงศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งออกข้าวไปสิงคโปร์ และส่งออกสินค้าประมงไปยังประเทศต่าง ๆ

(๔) บริษัทที่ปรึกษากฎหมายขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่โครงการต่าง ๆ จะเอื้อต่อสังคม และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และการบำบัดน้ำเสีย

๙. ปาฐกถาของนาย Maung Maung Win ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผน และการคลังเมียนมา และประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมียนมา ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการเปิดตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง และนโยบายที่จะดำเนินการต่อไป ดังนี้

(๑) เมียนมาได้เปิดตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งเมื่อปี ๒๕๕๘ ขณะนี้ มีบริษัทซื้อขายหุ้นจำนวน ๓ บริษัท ได้แก่ บริษัท First Myanmar Investment (FMI) ตั้งแต่ มีนาคม ๒๕๕๙ บริษัท Myanmar Thilawa SEZ Holdings Public Limited (MTSH) ตั้งแต่ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และธนาคาร Myanmar Citizens Bank (MCB) ตั้งแต่สิงหาคม ๒๕๕๙

(๒) เมียนมามีบริษัทมหาชนจำนวน ๒๓๐ บริษัท โดย ๔๐ บริษัทมีศักยภาพที่จะซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งได้

(๓) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมียนมาให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมให้บริษัทเอกชนแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน การเชื่อมกับตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การอนุญาตให้บริษัทประกันภัยมาดำเนินการในเมียนมา และการเสริมสร้างบรรษัทภิบาล (corporate governance) ในบริษัทมหาชน

๑๐. การเสวนาเรื่องตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (YSX) และการพัฒนาตลาดทุน (capital market) ผู้แทนธนาคารเมียนมาและภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการ YSX ดังนี้

(๑) รัฐบาลต้องมีแผนงานด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน และพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ การดำเนินการของ YSX เป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในระดับภูมิภาคได้

(๒) ในระยะสั้น ศึกษาแนวทางจากกัมพูชาในการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ และในระยะยาว ศึกษาการบริหารจัดการจากเวียดนาม

(๓) ศึกษาแนวทางที่จะลดค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหุ้น (transaction cost) ใน YSX หาวิธีที่จะสนับสนุน SME ให้ซื้อขายใน YSX และให้ชาวต่างชาติลงทุนใน YSX ได้

๑๑. การเสวนาเรื่องภาคการเกษตร ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมาและนักลงทุน ดังนี้

(๑) ให้สนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีบทบาทในการพัฒนาภาคการเกษตรมากขึ้น และให้จัดตั้งเขตเกษตรกรรม (agricultural zone) ลงทุนด้านการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนพัฒนาสถาบันการเงินระดับฐานราก (microfinance institution) เพื่อสนับสนุนเกษตรกร

(๒) ให้นักลงทุนต่างชาติร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น

(๓) ให้ปรับปรุงห้องทดลอง (laboratory) ให้ทันสมัยขึ้น และลงทุนด้านอุปกรณ์ทดลอง ความปลอดภัยด้านอาหาร (testing facilities for food safety) ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนจำหน่ายภายในประเทศและก่อนส่งออก

(๔) ให้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และดำเนินแนวปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร (good agricultural practices) ตามกรอบของ WTO

๑๒. การเสวนาเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน มม. รองอธิบดีกระทรวงการก่อสร้าง เมียนมา ผู้อำนวยการ Yangon City Development Committee (YCDC) และผู้แทนภาคเอกชน ได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมา ดังนี้

(๑) รัฐบาลเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centred) และให้ความสำคัญกับ การสร้างบ้านต้นทุนต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อย (low cost housing)

(๒) Condominium Law ซึ่งออกเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๙ อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อห้องชุด (apartment) ในอาคารได้จำนวนไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของจำนวนห้องทั้งหมด ตั้งแต่ชั้น ๖ ขึ้นไป และอนุญาตให้ชาวต่างชาติปล่อยเช่าห้องดังกล่าวได้

(๓) รัฐบาลได้พัฒนาแผนแม่บทว่าด้วยการก่อสร้างถนนในกรุงย่างกุ้ง เพื่อลดปัญหา รถติด อาทิ ด้วยการยกระดับถนน การจัดระบบการจารจร และการปรับปรุงระบบการขนส่งสาธารณะ

(๔) YCDC อยู่ระหว่างการพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และส่งเสริมโอกาสลงทุน รวมทั้งการแบ่งเขต (zoning) ในกรุงย่างกุ้ง เพื่ออนุรักษ์สถานที่ทางประวัติศาสตร์ และพัฒนาท่าเรือให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

(๕) บริษัท Green Vision Construction ของเมียนมาเห็นโอกาสขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับไทย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างทวาย-กาญจนบูรี พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า นักลงทุนต้องการ one stop service หรือ การประสานงานกับเพียง ๑ กรม หรือ ๑ คณะกรรมการ ในการขอรับอนุมัติโครงการ ซึ่งรองอธิบดีกระทรวงการก่อสร้างรับที่จะพิจารณา

********************************************************

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง
พฤศจิกายน ๒๕๕๙


« Back to Result