Thai-Myanmar Relations




๑. ความสัมพันธ์อยู่ในระดับดีมาก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงต่อเนื่อง การเยือนที่สำคัญครั้งหลังสุด ได้แก่ การเสด็จเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ ๓ – ๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ ซึ่งมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ทั้งระดับรัฐบาลและประชาชนให้แน่นแฟ้นขึ้นอย่างมาก

๒. ตั้งแต่เมียนมาร์เริ่มการปฏิรูป เมียนมาร์ได้ให้ความร่วมมือกับไทยในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านแรงงาน การปราบปรามยาเสพติด การอำนวยความสะดวกด้านการข้ามแดน สาธารณสุข การต่อต้านการค้ามนุษย์ และความร่วมมือ เพื่อการพัฒนา

๓. กลไกทวิภาคีหลักที่สำคัญ อาทิ

(๑) คณะกรรมาธิการร่วม (Thailand – Myanmar Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC)
(๒) คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC)
(๓) คณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า (Joint Trade Commission: JTC)
(๔) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee- HLC) ของฝ่ายทหาร
(๕) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee - RBC) เกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน
นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางในกรอบอนุภูมิภาค เช่น GMS และ ACMECS และในกรอบของอาเซียนด้วย




ด้านการเมือง

ไทยและเมียนมาร์มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน ในอดีตสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ ส่งผลให้บางช่วงเวลาความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม แม้เมียนมาร์จะถูกคว่ำบาตรจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ไทยในฐานะเพื่อนบ้านติดกัน ก็พยายามคงความสัมพันธ์ที่ดีไว้ และพยายามผลักดันนโยบายเกี่ยวพันเชิงสร้างสรรค์ (constructive engagement) เนื่องจากเห็นว่าการโดดเดี่ยวเมียนมาร์ โดยไม่พยายามเข้าใจความเป็นจริงในเมียนมาร์ ไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและสังคมเมียนมาร์ แต่การเปิดโอกาสให้เมียนมาร์ได้รับรู้พัฒนาการความเป็นไป มุมมอง และความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ น่าจะช่วยให้เมียนมาร์เข้าใจ และปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาคมระหว่างประเทศ โดยไทยได้สนับสนุนให้เมียนมาร์เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนจนเป็นผลสำเร็จในปี 2540

ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทย-เมียนมาร์ในยุคปฏิรูปของเมียนมาร์ดำเนินไปด้วยดี ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของทั้งสองฝ่ายเป็นระยะๆ การฟื้นฟูกลไกความร่วมมือทั้งในกรอบคณะกรรมาธิการร่วม (JC) คณะกรรมการชายแดนทั้ง JBC RBC และคณะกรรมการปักปันเขตแดน การเพิ่มพูนความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกัน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมากและต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ การปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามการค้ามนุษย์และผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง การจัดระเบียบแรงงานเมียนมาร์ในไทย และการยกระดับจุดผ่านแดนชั่วคราวและถาวรเป็นจุดผ่านแดนสากล 4 แห่ง (ท่าขี้เหล็ก-แม่สาย เมียวดี-แม่สอด เกาะสอง-ระนอง และทิกิ-บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี) ตลอดจนความร่วมมือด้านการข้ามแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายกำลังหารือ เรื่องการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดา และการเปิดให้ผู้ถือบัตรผ่านแดนสามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่ของอีกฝ่ายหนึ่งได้มากขึ้น

นอกจากนี้โดยที่เมียนมาร์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญทางการเมือง ไทยได้สนับสนุนพัฒนาการ ประชาธิปไตยและกระบวนการปรองดองแห่งชาติของเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีบทบาทสนับสนุนเมียนมาร์ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและพหุภาคี และเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรตลอดจนส่งเสริมให้ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนเมียนมาร์อย่างสร้างสรรค์

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ด้านการค้า

ในปี ๒๕๕๘ การค้ารวมคิดเป็นมูลค่า ๒๖๑,๙๗๕.๑๒ ล้านบาท (ลดลงร้อยละ ๐.๖ จากปี ๒๕๕๗) ไทยส่งออก ๑๔๐,๗๘๙.๕๕ ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๓๒) นำเข้า ๑๒๑,๑๘๕ ล้านบาท (ลดลงร้อยละ ๔.๗๙ เนื่องจากมูลค่าการนำก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์เข้าประเทศไทยลดลงจากการลดลงของราคาเชื้อเพลิงธรรมชาติในตลาดโลก) ได้ดุลการค้า ๑๙,๖๐๓.๙๗ ล้านบาท เป็นการค้าชายแดนมูลค่า ๒๑๔,๖๙๔.๓๘ ล้านบาท หรือร้อยละ ๘๑.๙๕ ของมูลค่าการค้ารวม

ด้านการลงทุน

ไทยมีการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ – มกราคม ๒๕๕๙ มูลค่า ๑๑๔,๘๐๔.๓๗ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖.๕๔ ของการลงทุนจากต่างชาติ เป็นอันดับ ๖ รองจากจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงาน การผลิต ประมง และปศุสัตว์ ผู้ลงทุนรายใหญ่ อาทิ ปตท.สผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) อิตาเลียนไทย ซีพี และเครือซิเมนต์ไทย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยส่งเสริมการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนไทยในเมียนมาร์อย่างมีความรับผิดชอบ

ความร่วมมือทางวิชาการและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภาพรวม

ไทยเริ่มให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่เมียนมาร์ในรูปแบบของการให้ทุนฝึกอบรม/ดูงานตั้งแต่ ปี 2504 ต่อมาในปี 2531 ไทยได้พัฒนาการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระดับทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับความต้องการของประเทศผู้รับ (Demand Driven Approach) และความชำนาญของไทยซึ่งมีศักยภาพในสาขาที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนา เช่น การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข โดยรัฐบาลเมียนมาร์สามารถเสนอคำขอรับความร่วมมือทางวิชาการจากรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาร์ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลการรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจากต่างประเทศ โดยรูปแบบของการให้ความร่วมมือทวิภาคี ประกอบด้วยโครงการพัฒนาต่าง ๆ การให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำปรึกษา และการจัดส่งอาสาสมัครไทยมาปฏิบัติงานในเมียนมาร์


ต่อมาในปี 2555 ไทยได้พัฒนาการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระดับทวิภาคีในลักษณะแผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระยะ 3 ปี ระหว่างปี 2556 – 2558 โดยรูปแบบการให้ความร่วมมือประกอบด้วย

  • การให้ทุนศึกษาระดับปริญญาโทปีละ 15 ทุน
  • การให้ทุนฝึกอบรมดูงาน 250 ทุน/ 25 หลักสูตร)
  • การดำเนินงานแผนงานความร่วมมือจำนวน 5 แผนงาน ได้แก่

    1. แผนงานการพัฒนาศักยภาพ ด้านการพยากรณ์อากาศ ระบบการเตือนภัย และการฟื้นฟูพื้นที่ภาคอิระวดีและภาคย่างกุ้ง (พื้นที่ประสบภัยจากพายุนาร์กีส)
    2. แผนงานความร่วมมือสาขาเกษตร (เน้นเรื่อง Food Security)
    3. แผนงานส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาร์
    4. แผนงานพัฒนาการท่องเที่ยว
    5. แผนงานสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2556 และการเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ในปี 2557

ในปี 2556 ถึงปัจจุบันไทยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาร์ ดังนี้

  • มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโทจำนวน 18 ทุน และทุนฝึกอบรม 47 หลักสูตร 262 ทุน รวมจำนวนผู้รับทุนมากกว่า 152 คน
  • ดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้แก่

    1. โครงการพัฒนาหลักสูตรภาษาไทย (Curriculum Development in Teaching Thai Language)

      ที่ Yangon University of Foreign Language (YUFL) ประกอบด้วยการให้ทุนการศึกษา ระดับปริญญาโทแก่อาจารย์เมียนมาร์ มอบอุปกรณ์การเรียนการสอน และส่งอาสาสมัครไทยมาปฏิบัติงาน เป็นอาจารย์สอนภาษาไทย จำนวน 4 ราย

    2. โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลทวาย (Project on Capacity Building for Dawei Hospital)

      ฝ่ายไทยได้ส่ง fact-finding mission ไปศึกษาและรวบรวมความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโรงพยาบาลตามศักยภาพของไทยและความต้องการของเมียนมาร์ ในเบื้องต้นอาจพิจารณาปรับปรุงห้อง ICU ของ รพ. ทวายให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้นและมีมาตรฐาน รวมทั้ง จัดสรรอุปกรณ์ต่าง ๆ และจัดฝึกอบรมดูงานให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ณ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาณจนบุรีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และเสริมสร้างเครือข่ายในการป้องกันและรักษาโรคร่วมกัน ระหว่างทั้งสองโรงพยาบาล

    3. โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีทวาย (Capacity Building for Teaching and Learning of the Technological university of Dawei)

      ฝ่ายไทยได้ส่ง fact-finding mission ไปศึกษาและรวบรวมความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนืออยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโรงพยาบาลตามศักยภาพของไทยและความต้องการของเมียนมาร์

    4. โครงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ ตามแนวชายแดนไทย- เมียนมาร์ (Building Awareness and Preparedness for Communicable Diseases and Emerging Disese along the Thailand – Myanmar)

      โดยดำเนินการระหว่างจังหวัดตาก (สาธารณสุขจังหวัดตาก) กับเมียวดี เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขชายแดนในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับโรคระบาดต่าง ๆ รวมทั้งการป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดข้ามแดน

  • การดำเนินงาน 2 แผนงาน ได้แก่

    1. แผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการพยากรณ์อากาศ ระบบการเตือนภัยและฟื้นฟูภาคอิระวดีและภาคย่างกุ้ง

      โดยสนันสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาและเกษตรทุนฝึกอบรมดูงานอุปกรณ์เกี่ยวการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลในการพยากรณ์อากาศสำหรับจัดตั้งสถานีชายฝั่ง 20 แห่ง เครื่องตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติ เครื่องมือซ่อมอุปกรณ์อุตุฯ และบอลลูนตรวจสอบสภาพอากาศ

    2. ความร่วมมือแผนงานสาขาเกษตร 3 ปี ภายใต้หัวข้อ "Food Security" มีดังนี้

      • โครงการวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย (The Foot and Mouth Disease (FMD) Vaccine Project)

        สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ทุนฝึกอบรม/ดูงาน และวัสดุอุปกรณ์ให้ห้องทดลอง จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ PCR for FMD Diagnosis and FMD Vaccine Quality Control โดยเชิญผู้แทนกรมปศุสัตว์เมียนมาร์เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว

      • โครงการพัฒนากระบือ (Buffalo Development Project)

        ณ ศูนย์พัฒนาการเลี้ยง กระบือลาบุตตา ภาคอิระวดี(Labutta Buffalo Development Center) ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ทุนฝึกอบรม/ดูงานแก่เจ้าหน้าที่เมียนมาร์ และอุปกรณ์ในการเพาะปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และจัด “Integrated Workshop on Buffalo Production, Processing and Utilization of Tropical Pasture to Sustain Buffalo Productivity” ให้แก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ปะเต็ง ภาคอิระวดี พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการจัดการฟาร์มและหญ้าเลี้ยงกระบือแก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เมียนมาร์


มูลค่าการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่เมียนมาร์

ในช่วง ปี 2550-2554 เมียนมาร์ได้รับทุนภายใต้กรอบต่าง ๆ ดังนี้

1. กรอบทวิภาคีและไตรภาคี จำนวนทั้งสิ้น 1,619 ทุน มูลค่ารวมประมาณ 132 ล้านบาท ดังนี้

ปี ทวิภาคี TIPP AITC ไตรภาคี จำนวนทุนรวม มูลค่า/บาท
2550 167 14 52 46 279 24,782,000
2551 195 18 52 48 313 28,088,000
2552 242 24 60 95 421 39,000,000
2553 235 10 37 114 396 30,999,700
2554 86 1 3 120 210 10,121,900
รวม 925 67 204 423 1,619 132,991,600

2. กรอบอนุภูมิภาค จำนวนทั้งสิ้น 220 ทุน มูลค่ารวมประมาณ 31.80 ล้านบาท


งบประมาณ

ในปี 2554 - 2556 ไทยสนับสนุนงบประมาณสำหรับความร่วมมือทวิภาคีให้แก่ เมียนมาร์ เป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่ารวมประมาณ 137 ล้านบาท ดังนี้

ประเทศ

ปีงบประมาณ
2554 2555* 2556* รวม 3 ปี (ล้านบาท)
ลาว 63,172,500 72,177,600 99,376,100 234,726,200
เมียนมาร์ 33,779,200 45,300,000 58,585,800 137,665,000
กัมพูชา 2,427,600 33,000,000 47,440,800 82,868,400
เวียดนาม 5,977,000 20,400,000 22,550,000 48,927,000
รวมทุกประเทศ 105,356,300 170,877,600 227,952,700 504,186,600

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาร์ ในกรณีภัยพิบัติต่างๆ โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาร์ ภายหลังประสบพายุไซโคลนนาร์กีส และเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 ได้มอบเงินช่วยเหลือแก่เมียนมาร์กรณีอุทกภัย จำนวน 2 ล้านบาท โดยเมียนมาร์ได้มอบเงินและสิ่งของช่วยเหลือแก่ไทยกรณีอุทกภัยปี 2554 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ไทยได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ เมียนมาร์สำหรับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และล่าสเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ไทยได้มอบเงินสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่หลังเหตุการณ์อุทกภัยที่เมืองเมียวดีจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

การดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตฯ ณ กรุงย่างกุ้ง

ในวาระครบรอบ 65 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย และเมียนมาร์ สถานเอกอัครราชทูตฯ ณ กรุงย่างกุ้งได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อาทิ

  1. โครงการความร่วมมือในการพัฒนาโรงเรียนมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ โดยได้คัดเลือกโรงเรียน Basic Education Primary School ซึ่งตั้งอยู่ในเขต Thapyay Hla เมือง Pyinmana โดยจะปรับปรุงอาคารเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการเมียนมาร์ ภายในวงเงิน 1,230,000 บาท

  2. โครงการความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตขาเทียม เพื่อปรับปรุงการให้บริการและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการในเมียนมาร์ โดยร่วมมือกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ National Rehabilitation Hospital กรุงย่างกุ้ง กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาร์ ซึ่งฝ่ายไทยสนับสนุนการปรับปรุงหน่วยขาเทียม มอบอุปกรณ์และวัสดุในการผลิตขาเทียมที่ได้มาตรฐานสากล และอบรมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ภายในวงเงิน 4,032,000 บาท

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม

ในการช่วงการฉลองครบรอบ 65 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมาร์ ในปี 2556 ไทยกับเมียนมาร์ได้ร่วมมือกันจัดงานต่าง ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับภาคประชาชน ดังนี้

  1. งานผ้าสองแผ่นดิน เป็นการเปิดศักราชการฉลองครบรอบ 65 ปี โดยนำผ้าพื้นเมืองของทั้งสองประเทศเป็นตัวเชื่อม เนื่องจากผ้าพื้นเมืองของทั้งสองประเทศมีลักษณะที่คล้ายกัน สะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกัน นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเรื่องของการแสดง และอาหารที่สะท้อนให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมระหว่างกัน งานนี้นอกจากจะได้รับความสนใจจากผู้ที่อยู่ในวงการแฟชั่น อาหาร หรือนาฏศิลป์ แต่ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก

  2. การแสดงดนตรี The Melodies of Friendship โดยวงประสานเสียงสวนพลู เป็นการเปิดศักราชแนวดนตรีการร้องเพลงประสานเสียงในเมียนมาร์เป็นครั้งแรก ถือว่าเป็นวงของไทยที่ได้รับคำชื่นชมและได้รับการตอบรับที่ดียิ่งจากสาธารณชนของเมียนมาร์

  3. ด้านศาสนา โดยที่ทั้งสองประเทศนับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน ทำให้มีความใกล้ชิดกันในทุกระดับ ในแต่ละปีจะมีการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาทอดถวายที่เมียนมาร์

ความร่วมมือด้านยาเสพติด

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ได้ดำเนินงานครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่

  1. ความร่วมมือด้านการข่าวและปฏิบัติการ โดยแลกเปลี่ยนข่าวสารและจัดตั้งจุดประสานงานใน 3 พื้นที่ ซึ่งมีความพร้อมและมีปัญหาการนำเข้ายาเสพติดในพื้นที่ประเทศไทย ได้แก่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย กับ จ.ท่าขี้เหล็ก / อ. แม่สอด จ. ตาก กับ จ. เมียวดี / อ.เมือง จ. ระนอง กับ จังหวัดเกาะสอง

  2. ความร่วมมือในการลดอุปทานยาเสพติด โดยไทยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาร์ ในการลดพื้นที่ปลูกฝิ่น ลดการแพร่ระบาดและการค้ายาเสพติดโดยเน้นพื้นชายแดนไทย-เมียนมาร์ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาอีกมิติหนึ่ง ซึ่งจะลดปัญหาอื่น ๆ ด้วย เช่น ปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาด้านสาธารณสุข และปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันไทยให้ความช่วยเหลือในโครงการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน 2 แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านจ่อผะ จ. เมืองสาด และพื้นที่เมืองตูม โดยสำนักงาน สปป. สนับสนุนงบประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ย. 2555) และผู้รับผิดชอบโครงการ คือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

  3. ความร่วมมือด้านวิชาการ โดยไทยให้ความร่วมมือแก่เมียนมาร์ ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดเมียนมาร์ในด้านการปราบปราม การให้ความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในผลิตยาเสพติด การสืบสวนและการดำเนินคดียาเสพติด การตั้งจุดตรวจค้น รวมทั้งการพัฒนาระบบการข่าว และระบบการบริหารจัดการด้านการปราบปรามยาเสพติด

ประเด็นความร่วมมือสำคัญ / ประเด็นคั่งค้างต่างๆ

๑. การพัฒนาพื้นที่ชายแดนและความเชื่อมโยง

๑.๑ การเปิดจุดผ่านแดนถาวรเพิ่มเติม

เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ด่านสิงขร เป็น “จุดผ่อนปรนพิเศษ” ซึ่งต่อมาที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดน ครั้งที่ ๖/๒๕๕๘ เมื่อ ๒๕ กันยายน๒๕๕๘ อนุญาตให้ขยายเวลาการพำนักสำหรับผู้เดินทางผ่านจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรจากเดิม ๑ คืน ๒ วัน เป็น ๓ คืน ๔ วัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ ตามที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เสนอ โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๙

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการพิจารณายกระดับจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนที่ด่านห้วยต้นนุ่น (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งจะต้องหารือในรายละเอียดต่อไป และมีจุดผ่านแดนที่มีศักยภาพทางการค้าและเศรษฐกิจอีกหลายจุด อาทิ (๑) กิ่วผาวอก (จังหวัดเชียงใหม่) และ (๒) พระเจดีย์สามองค์ (จังหวัดกาญจนบุรี) เป็นต้น

๑.๒ การพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยง

๑) กระทรวงคมนาคมได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า งบประมาณ ๑,๑๔๐ ล้านบาท เพื่อ (๑) ซ่อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ ๑ เชื่อมโยงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก – เมืองเมียวดี (๒) ปรับปรุงถนนแม่สอด/ เมียวดี – เชิงเขาตะนาวศรี ระยะทาง ๑๗ กม. และ (๓) สร้างถนนช่วงต่อจากเชิงเขาตะนาวศรี – กอกะเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ระยะทาง ๒๘ กม. ทั้งสามโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้มีพิธีส่งมอบถนนสายเมียวดี – กอกะเร็ก เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

๒) คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ ๓,๙๐๐ ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ ๒ ซึ่งรวมความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่ามูลค่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับค่าก่อสร้างของเมียนมาร์ในการสร้างสะพานฯ ถนนเชื่อมและอาคาร จุดผ่านแดนในฝั่งเมียนมาร์ ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างสะพานในฝั่งไทยแล้ว ในส่วนของเมียนมาร์ยังคงอยู่ระหว่างการเวณคืนที่ดิน โครงการน่าจะแล้วเสร็จไม่เกินปี ๒๕๖๐

๑.๓ เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ไทยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก (อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด) โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ ด้านต่าง ๆ แก่นักลงทุน และอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวตามพื้นที่ชายแดนเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแบบเช้ามา – เย็นกลับ หรือตามฤดูกาล พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกิจกรรม ทางเศรษฐกิจกับฝั่งเมียนมาร์ ซึ่งจะยังผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ

๒. โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

เมื่อปี ๒๕๕๕ ไทยกับเมียนมาร์ลงนาม MOU เพื่อร่วมมือดำเนินโครงการพัฒนาเขตเศรษฐพิเศษทวายและจัดตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมาร์ เพื่อผลักดันโครงการ กับได้ลงนามกับญี่ปุ่นใน MOI สามฝ่าย ในระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงครั้งที่ ๗ โดยญี่ปุ่นแสดงเจตจำนงที่จะร่วมมือในโครงการทวาย รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาด้านเทคนิค และจะมีส่วนร่วมจัดทำ Master Plan การพัฒนาโครงการทวายด้วย

๓. ความร่วมมือด้านแรงงาน

๓.๑ การจัดส่งแรงงานตาม MOU

สองฝ่ายเห็นชอบให้ปรับปรุงกระบวนการจัดส่งแรงงานตาม MOU (ต้องการเปลี่ยนจากการผ่านระบบบริษัทจัดหาแรงงานมาเป็นผ่านระบบ G-to-G) โดยให้ริเริ่มโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแบ่งปันข้อมูล และตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของระบบ

๓.๒ การพัฒนาฝีมือแรงงาน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศจะทำโครงการที่ท่าขี้เหล็ก เมียวดี และทวาย

๔. การจัดทำความตกลงเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา

ไทยกับเมียนมาร์ได้ ลงนามความตกลงฯ โดยยกเว้นการตรวจลงตราเฉพาะผู้ที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ในระหว่างการประชุม JC ครั้งที่ ๘ โดยความตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ พำนักได้ ๑๔ วัน

๕. ความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติด

สองฝ่ายร่วมมือใกล้ชิดและคืบหน้ามาก โดยปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ส. โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และคณะกรรมการกลางเพื่อการควบคุมยาเสพติดเมียนมาร์ (CCDAC) กำลังดำเนินโครงการพัฒนาทางเลือกเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในรัฐฉาน ซึ่งจะมีการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการในจังหวัดท่าขี้เหล็กและจังหวัดเมืองสาดเพิ่มเติม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development – AD) ซึ่งไทยผลักดันในเวทีระหว่างประเทศด้วย

๖. ความร่วมมือด้านพลังงาน

๖.๑ กรอบความร่วมมือ

เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงงานเมียนมาร์ และกระทรวงไฟฟ้าเมียนมาร์ได้ลงนามใน MOU ระหว่างไทยกับเมียนมาร์ (๑) ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงงาน และ (๒) ว่าด้วยความร่วมมือด้านไฟฟ้า ครอบคลุมความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ตั้งแต่การสำรวจและผลิต จนถึงการพัฒนาการกลั่นน้ำมัน และผลิตปิโตรเคมี และความร่วมมือเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการจัดตั้ง Joint Working Committee ๒ ชุด เพื่อร่วมกันกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดประชุมเป็นประจำ

๖.๒ ก๊าซธรรมชาติ

ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์มากกว่าร้อยละ ๒๐ ของปริมาณที่ใช้ในไทย โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ (๑) ยาดานา (๒) เยตากุน และ (๓) ซอติก้า นอกจากนี้ ยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งเมียนมาร์ และแหล่งก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมบนบกด้วย

๖.๓ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

มีโครงการพัฒนาซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมด้วย ได้แก่ (๑) เขื่อนมายต่อง ตรงข้ามจังหวัดเชียงราย (๒) เขื่อนฮัจจี ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่นำสาละวินซึ่งอยู่ในขั้นตอนออกแบบศึกษา

๖.๔ โรงไฟฟ้า

เมื่อปี ๒๕๕๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติมอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันแก๊ส ๒ เครื่อง ติดตั้งที่โรงไฟฟ้า Ywama Power Station ตั้งแต่ มกราคม ๒๕๕๗ เพื่อช่วยเหลือเมียนมาร์ซึ่งมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ และเริ่มแจกจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมียนมาร์แล้ว

๗. ความร่วมมือภาคการเงินการธนาคารและตลาดทุน

๗.๑ ธนาคารไทย ๔ แห่ง (ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย)

มีสำนักงานผู้แทนในเมียนมาร์ ล่าสุด เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ธนาคารกรุงเทพได้รับใบอนุญาตให้เปิดสาขาในกรุงย่างกุ้งแล้ว

๗.๒ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือกับธนาคารกลางเมียนมาร์

เพื่อขอให้ฝ่ายเมียนมาร์อนุญาตให้ใช้เงินบาทสามารถแลกเปลี่ยนกับเงินจั๊ตได้โดยตรงอย่างถูกกฎหมาย โดยล่าสุด ในที่ประชุม JC ไทย – เมียนมาร์ ครั้งที่ ๘ ฝ่ายเมียนมาร์อนุญาตให้สามารถใช้เงินบาทแลกเปลี่ยนกับเงินจั๊ตได้โดยตรงที่เคาน์เตอร์แลกเงินที่ลงทะเบียนถูกต้องแล้ว

๗.๓ เมียนมาร์เปิดทำการตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๘

ขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์มีความร่วมมือกับเมียนมาร์ในด้านการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรและองค์กรด้วย เพื่อสนับสนุนการสร้างมาตรฐานด้านตลาดทุนของเมียนมาร์และสอดคล้องกับการพัฒนาตลาดทุนของภูมิภาค

๘. ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาและด้านมนุษยธรรม

๘.๑ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่เมียนมาร์ผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหลัก

โดยเฉพาะด้านการเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รับจัดสรรงบประมาณ ๕๓.๕ ล้านบาท โดยเน้นส่งเสริมการดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาร์

๘.๒ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนในเมืองทวาย ๒ โครงการ

ได้แก่ (๑) โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยฉุกเฉินโรงพยาบาลทวาย และ (๒) โครงการปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน ด้านอาชีวศึกษาของโรงเรียนเทคนิคทวาย นอกจากนี้ ในที่ประชุม JC ไทย – เมียนมาร์ครั้งที่ ๘ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้เสนอดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในรัฐยะไข่เพิ่มเติม

๘.๓ ไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาร์ในกรณีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

อาทิ พายุไซโคลน นาร์กิส แผ่นดินไหวที่รัฐฉาน สถานการณ์ในรัฐยะไข่ รวมทั้งเหตุอุทกภัยล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘

๙. ความร่วมมือด้านประมง

ในที่ประชุม JC ครั้งที่ ๘ สองฝ่ายเห็นพ้องให้หารือการจัดทำความร่วมมือด้านประมงร่วมกัน โดยเมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ กรมประมงได้ส่งข้อเสนอโครงการฯ ให้ฝ่ายเมียนมาร์พิจารณาแล้ว ในชั้นนี้ อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณา

๑๐. ความตกลงไทย-เมียนมาร์เกี่ยวกับเศรษฐกิจและธุรกิจ

  • ความตกลงทางการค้าไทย
  • เมียนมาร์ ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๒
  • บันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้าไทย
  • เมียนมาร์ ลงนามเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓
  • ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๖
  • ความตกลงการค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙
  • ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย-เมียนมาร์ ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑
  • ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๕