จุดเด่นของงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ Myanmar Insight 2018

2 สิงหาคม 2561
จุดเด่นของงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ Myanmar Insight 2018

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง โดยความร่วมมือกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (Thai Business Association of Myanmar – TBAM)ได้จัดงานสัมมนาด้านเศรษฐกิจ “Myanmar Insight 2018” ที่โรงแรม Shangri-La กรุงเทพฯซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และ TBAM ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา Myanmar Insight และเป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิงฉลองครบรอบ ๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เมียนมาในปี ๒๕๖๑ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ ราว ๖๐๐ คน

 

จุดเด่นของงานสัมมนาฯ คือ การมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับรัฐมนตรีของฝ่ายเมียนมา นำโดย นาย ThaungTunรัฐมนตรีประจำกระทรวงรัฐบาลกลางของเมียนมา ในฐานะประธานคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MyanmarInvestment CommissionMIC) รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจของเมียนมา นอกจากนี้ เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีจากรัฐบาลท้องถิ่นร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนา Myanmar Insight ซึ่งเป็นการเสวนาเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในหลากหลายสาขาในเมียนมาตลอด ๑ วันเต็ม

 

          ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ CEOs Dinner สำหรับคณะผู้แทนฝ่ายเมียนมา และ CEOs ชั้นนำของไทย ก่อนงานสัมมนา Myanmar Insight 2018 เพื่อเป็นเวทีให้ผู้กำหนดการนโยบายของเมียนมา และ CEOs ชั้นนำของไทย ได้มีโอกาสพบปะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองฝ่าย ให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาร่วมกัน

 

          งานสัมมนาฯ จัดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมในช่วงก่อนที่เมียนมาจะมีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจสำคัญ คือ การประกาศใช้กฎหมายบริษัทฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ ทั้งนี้ ในช่วงพิธีเปิดงานสัมมนาฯ นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้กล่าวเน้นเรื่องหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเมียนมา และนโยบายของไทยที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้เสนอแนะให้บริษัทไทยมองภูมิภาคในภาพรวม และให้ตระหนักถึงแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของภูมิภาค รวมทั้งเส้นทางหลักด้านโลจิสติกส์ เช่น เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตกท้ายสุด เอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า นักธุรกิจไทยที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องคืนกำไรสู่ชุมชมท้องถิ่น และดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)

 

          ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาฯ โดยขอบคุณฝ่ายเมียนมาที่ให้ความช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวงจังหวัดเชียงราย และยกประเด็นแผนแม่บท ACMECS ระยะ ๕ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๙ ๒๐๒๓) ซึ่งเป็นผลจากการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๘ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ประเทศไทย โดยเป็นแผนที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยง การบูรณาการ และการพัฒนาอย่างอัจฉริยะและยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐมนตรีฯได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่ดีเลิศระหว่างไทยกับเมียนมา และนโยบายของไทยที่จะเปิด จุดผ่านแดนถาวรเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ 

 

          ในอนาคต รัฐมนตรีฯ เห็นว่าควรส่งเสริมความเชื่อมโยงแบบดิจิตอลภายในภูมิภาค การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมแรงงานสำหรับยุคดิจิตอล และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 กล่าวคือ การสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีมาตรการกระตุ้น เช่น การส่งเสริมการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และเทคโนโลยีในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาในด้านการแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ดิจิตอลภาครัฐ(digital government) รวมทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนาบ้านพี่เมืองน้องอัจฉริยะ(smart sister cities) และความมั่นคงทางไซเบอร์(cyber security) 

 

          หลังจากนั้น นาย ThaungTun รัฐมนตรีประจำกระทรวงรัฐบาลกลางของเมียนมา และประธาน MIC ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยกับเมียนมาทั้งในฐานะเพื่อนและเพื่อนบ้าน ภายใต้บริบทการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของภูมิภาคเอเชีย และการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยและเมียนมาในส่วนกลางของอาเซียนแล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค และความเชื่อมโยงของประชาคมระดับภูมิภาคในส่วนของเมียนมา รัฐบาลเมียนมามีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติดังนั้น จึงมีโอกาสที่เมียนมาจะมีความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ของไทย ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่กำลังดำเนินการในขณะนี้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

 

          หลังจากปาฐกถาพิเศษของนาย Thaung Tun จึงต่อด้วยเวทีเสวนา ๕ ด้าน ได้แก่() เหตุผลที่ควรลงทุนในเมียนมา () โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว() สาขาไฟฟ้าและพลังงาน () การค้า () สาขาเกษตร การประมง และปศุสัตว์ โดยผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯได้รับข้อมูลโดยตรงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลเมียนมาที่เกี่ยวข้อง อาทิ นาย Ohn Maungรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยว นาย Set Aung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการคลัง นาย Min Kyaw Lwinรัฐมนตรีด้านกิจการเทศบาลและการก่อสร้างของรัฐมอญ  ดร. Tin Htutอดีตปลัดกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน นาย Aung Naing Ooเลขาธิการ MIC นาง MiMiKhaingอธิบดีกรมวางแผนด้านไฟฟ้า กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน นาย Aung Kyi Soeเลขาธิการสหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา นาย Thet Lwin Tohประธานสมาคมท่องเที่ยวแห่งเมียนมา และ นาย Naing Win Toe ผู้อำนวยการคณะกรรมการการลงทุนของรัฐกะเหรี่ยง ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาฯ ยังได้รับฟังประสบการณ์ของบริษัทไทยและเมียนมาที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน และดำเนินธุรกิจในเมียนมา และมีโอกาสสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากวิทยากรทุกท่าน

 

          สถานเอกอัครราชทูตฯ และ TBAM มีความยินดีที่การจัดงานMyanmar Insight 2018 ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในการเป็นเวทีให้นักธุรกิจไทยได้รับทราบนโยบายด้านเศรษฐกิจของเมียนมา โอกาสการค้าการลงทุน รวมทั้งประสบการณ์ของธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ จากผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจและนักธุรกิจรายสำคัญ

 

*****************************************


« Back to Result