สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และจังหวัดตากมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้สถานกักตัวผู้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐกะเหรี่ยง เปิดโครงการเชื่อมความสัมพันธ์ท้องถิ่นกับท้องถิ่น Local to Local ระหว่างไทยกับเมียนมา

8 กันยายน 2563
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และจังหวัดตากมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้สถานกักตัวผู้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐกะเหรี่ยง เปิดโครงการเชื่อมความสัมพันธ์ท้องถิ่นกับท้องถิ่น Local to Local ระหว่างไทยกับเมียนมา


เมื่อ กันยายน 2563 นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พร้อมด้วยนายโซ หล่าย (U Soe Hlaing) รัฐมนตรีไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลรัฐกะเหรี่ยง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และนายเท ซา อ่อง (U Tay Zar Aung) ผู้ว่าราชการเมืองเมียวดี ได้ร่วมพิธีผ่านระบบการประชุมทางไกลในการมอบสิ่งของตามโครงการสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคแก่สถานกักตัวผู้เฝ้าระวังการติดเชื้อ COVID-19 ภายใต้ชื่อ น้ำใจไทยจากจังหวัดตากสู่รัฐกะเหรี่ยง” โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแนวคิดการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศลุ่มน้ำโขงระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่น (Local to Local)

Local to Local ริเริ่มและขับเคลื่อนโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างส่วนท้องถิ่นของไทยกับส่วนท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาสินค้าและผลิตผลท้องถิ่น การพัฒนาคุณภาพสังคมและชุมชน และการสร้างมูลค่าการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และกีฬา

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เห็นว่า จังหวัดตากและรัฐกะเหรี่ยงซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC) มีด่านแม่สอด-เมียวดีที่มีมูลค่าการค้าข้ามแดน (Cross Border Trade) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับด่านการค้าชายแดนไทย-เมียนมาอื่น ๆ มีการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ทางบก ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตทั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษตากในประเทศไทย เขตเศรษฐกิจเมียวดี และเขตอุตสาหกรรมพะอัน รัฐกะเหรี่ยง ในเมียนมา สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงเห็นความพร้อมของทั้งสองพื้นที่ในการขยายความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่น (Local to Local)

การดำเนินกิจกรรมนี้เป็นการแสดงไมตรีจิตต่อฝ่ายเมียนมาในการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายเล็กและกลางในจังหวัดตากในการกระจายสินค้าและสร้างอุปสงค์ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยไปเมียนมาเพิ่มขึ้นและ โดยจังหวัดตากได้เลือกสรรสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ ชุดเครื่องนอนและมุ้งซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด และตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก และผลไม้กวน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ของตำบลวังหิน อำเภอเมืองตาก รวมทั้งสินค้าที่วางจำหน่ายโดยห้างหุ้นส่วนจำกัดในจังหวัดตาก ได้แก่ เครื่องซักผ้า เครื่องกรองน้ำ และปลากระป๋อง ตามความต้องการสถานกักตัวผู้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในรัฐกะเหรี่ยง

ผู้แทนฝ่ายเมียนมาได้กล่าวขอบคุณที่ไทยได้ริเริ่มกิจกรรมเช่นนี้ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ และช่วยให้ฝ่ายเมียนมารับมือกับการดูแลชาวเมียนมาได้ดีขึ้น

ในโอกาสนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ขอขอบคุณจังหวัดตาก รัฐกะเหรี่ยง เมืองเมียวดี หอการค้าเมืองเมียวดี หอการค้าจังหวัดตาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมสุขเพิ่มพูน การโยธา และบริษัท AST Express จำกัด ที่ร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในระดับ Local to Local ของทั้งสองประเทศ


« Back to Result