สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง สนับสนุนโครงการประกวดแผนธุรกิจรัฐกะเหรี่ยง เพื่อสานต่อแนวคิด Local to Local มุ่งเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการรุ่นใหม่เมียนมาและส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่า บนระเบียงความร่วมมือเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
8 มกราคม 2564
สมาคมผู้ประกอบการชาติพันธุ์เมียนมา (Myanmar Ethnic Entrepreneurs’ Association: MEEA) โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้จัด การประกวดแผนธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในรัฐกะเหรี่ยง (ผ่านระบบออนไลน์) ภายใต้หัวข้อ “Successful Business Plan Competition to Enhance East-West Economic Corridor of Kayin State, Myanmar” มีนาย Than Naing รัฐมนตรีวางแผน การคลังและการพัฒนา รัฐบาลรัฐกะเหรี่ยง และนางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ร่วมกล่าวในการเปิดการประกวดรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๔ โดยมีผู้แทนจากหอการค้าจังหวัดตากเข้าร่วมเป็นคณะกรรม การคัดเลือกแผนธุรกิจด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๔ ได้มีพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ผ่านการคัดเลือก ๕ ทีมสุดท้าย จากทั้งหมดที่เข้าร่วมการแข่งขันจำนวน ๓๕ ทีม โดยจัดพิธีขึ้นที่กระทรวงกิจการชาติพันธุ์ มีนาย Zaw Aye Maung รัฐมนตรีกิจการกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ รัฐบาลภาคย่างกุ้ง กล่าวเปิดงาน และนางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตฯ ส่งวิดีทัศน์แสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัล การประกวดแผนธุรกิจในรอบชิงชนะเลิศ ดังนี้
๑. รางวัลชนะเลิศ แผนธุรกิจผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณา ของ บจก. DANA-Maximillion Group
๒. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ แผนธุรกิจ ZweKaBin Fibre Internet ของ บจก. Year One
๓. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ แผนธุรกิจ Silver Lining Packaging ของ บจก. Silver Lining
๔. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๓ แผนธุรกิจ Bright & Green (Electrical Power Generation and Distribution Industry) ของ Advance Young Professionals Association
๕. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๔ แผนธุรกิจ Agricultural Supportive Products โดย บจก. Fertisol
กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศลุ่มน้ำโขงระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่น (Local-to-Local) ซึ่งริเริ่มและขับเคลื่อนโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ การประกวดมีเป้าประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดน ไทย-เมียนมา ตรงข้ามกับจังหวัดตากของไทย รวมทั้งเป็นโอกาสที่นักธุรกิจไทยจะได้รับทราบถึงพัฒนาการและศักยภาพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากเมียนมา โดยเฉพาะ Micro, Small and Medium Enterprises (MSMEs) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเชื่อมห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) การขยายการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจระหว่างสองประเทศ ตลอดจนการพัฒนาความเชื่อมโยงโดยใช้ประโยชน์จากแนวคิดระเบียงความร่วมมือเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) ได้ด้วย นอกจากนี้ ในภาพรวม ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมาในทุกมิติในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partners) โดยเฉพาะมิติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการติดต่อระดับประชาชนกับประชาชน
สถานเอกอัครราชทูตฯ หวังว่า ในขณะเดียวกัน กิจกรรมข้างต้นจะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียนมา (Myanmar Sustainable Development Plan: MSDP) ในประเด็นของการสร้างงานและการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในกลุ่มเยาวชน และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพบนพื้นฐานของความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่ยั่งยืน
ผู้ที่สนใจรายละเอียดของโครงการ รวมทั้งข้อมูลการติดต่อผู้ชนะรางวัลและผู้เข้าร่วมแข่งขันอื่น ๆ เพื่อการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน สามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งทางอีเมล thaibizmyanmar@gmail.com