สถานการณ์การค้าปลีก-ค้าส่งในเมียนมากับโอกาสของภาคเอกชนไทย

19 พฤศจิกายน 2563
สถานการณ์การค้าปลีก-ค้าส่งในเมียนมากับโอกาสของภาคเอกชนไทย

  May Thazin Aye 
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา

หลังจากเมื่อปี ๒๕๖๑ กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้อนุญาตให้บริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทต่างชาติกับบริษัทเมียนมาสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง (Retail & Wholesale)[๑] ในเมียนมาได้โดยมีเงื่อนไขเรื่องเงินลงทุนขั้นต่ำ (minimum initial investment) ตั้งแต่ ๗๐๐,๐๐๐-๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐตามแต่กรณี แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจในร้านชำและร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดไม่ถึง ๙๒๙ ตารางเมตร กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี ๒๕๖๓ มีบริษัทในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง รวมทั้งสิ้น ๘๙ ราย ได้แก่

(๑)    บริษัทที่ภาคเอกชนเมียนมาเป็นเจ้าของถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ จำนวน ๑๕ ราย

(๒)    บริษัทเมียนมาที่ร่วมทุน (joint venture) กับบริษัทต่างชาติ จำนวน ๓๗ ราย[๒]

(๓)    บริษัทที่ต่างชาติเป็นเจ้าของและถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ (100 % Foreign Owned) จำนวน ๓๗ ราย[๓]

การเปิดเสรีการลงทุนด้านการค้าปลีกและค้าส่งช่วยให้ผู้บริโภคเมียนมามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น สหภาพผู้บริโภคเมียนมา (Myanmar Consumers Union) ได้เผยแพร่รายงาน “Myanmar Consumer Survey: 2020”  ซึ่งกล่าวถึงรายการสินค้าที่มาจากธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ภาคเอกชนต่างชาติเข้าไปลงทุนและเป็นที่ต้องการของตลาดเมียนมา ได้แก่ อันดับ ๑ อาหารและเครื่องดื่ม อันดับ ๒ ของใช้ประจำวันและสินค้าสำหรับครัวเรือน อันดับ ๓ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอันดับ ๔ เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น

ธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ เมียนมาได้ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนเมียนมาเปลี่ยนจากการซื้อ-ขายสินค้าจากร้านค้ารูปแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) เป็นการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เว็บไซต์ที่นิยมกันมาก เช่น Shop.com.mm, rgo47.com และ Ezay[๔] แอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ เช่น Grab, Hi-So, Yangon Door-to-Door, Mandalay Door-to-Door, Foodpanda รวมถึงช่องทางผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ Facebook และ Viber จากผู้ประกอบการ Modern Trade และ MSMEs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผู้ซื้อสินค้าสามารถจ่ายได้ทั้งเงินสด (เก็บเงินปลายทาง) และผ่านระบบ Online Payment ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจ Microfinance

โอกาสของไทยในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง 
          กระทรวงพาณิชย์ของไทยเผยข้อมูลสถิติการค้าระหว่างไทยกับเมียนมา ระหว่างเดือนมกราคม - เดือนกันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม ,๐๕๖.๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (นำเข้า ๒,๑๘๒.๙๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออก ๒,๘๗๓.๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำมัน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องสำอาง สบู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์รักษาสิว ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา รายงานว่า ปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ อันดับ ๒ ของเมียนมา โดยสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทย ได้แก่ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป (semi-finished products) ร้อยละ ๓๖ วัตถุดิบเพื่อการผลิต ร้อยละ ๓๔ เครื่องอุปโภคบริโภค ร้อยละ ๑๘ และสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ ๑๒

เมียนมาจึงนับเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการส่งสินค้าออกของไทย โดยมีช่องทางการจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่สูงขึ้น กอปรกับความนิยมของสินค้าไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงและมีการลงทุนของไทยในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งมากที่สุด ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยสามารถขยายช่องทางในการเข้าสู่ตลาดโดยให้ความสำคัญแก่การวางจำหน่ายสินค้าทั้งการค้ารูปแบบดั้งเดิมตามร้านค้า ห้างร้านต่าง ๆ และ การค้าแบบใหม่ (ออนไลน์) การนำเสนอประเภทสินค้าอื่นเพิ่มมากขึ้น ก็จะสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ตอบสนองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในเมียนมาได้ดีขึ้น รวมทั้งการพิจารณาพัฒนาการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัยและรวดเร็วยิ่งขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมโอกาสของสินค้าไทยในตลาดเมียนมาได้อีกมากด้วย

 

หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่

(๑)   ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

  อีเมล thaibizmyanmar@gmail.com

(๒)   สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 
  (หน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์)
 
  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

  อีเมล ditpyangon@gmail.com

(๓)    สำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ณ กรุงย่างกุ้ง   
   (Export-Import Bank of Thailand, Yangon Representative Office)

   อีเมล yangonoffice@exim.go.th 

บทความ เมียนมาเปิดเสรีค้าปลีกค้าส่งภายในประเทศ อนุญาตต่างชาติถือหุ้น 100%” https://globthailand.com/myanmar_0025/

***********************************


เอกสารอ้างอิง 
Notification No. 25/ 2018 : https://www.commerce.gov.mm/sites/default/files/documen ts/2018/07/(25-2018)%20Wholesale%20Retail%20Order%20(Unofficial%20%20Translation).pdf 
Wholesale and Retails Company.gov.2020: https://www.dica.gov.mm/en/data-and-statistics  
Myanmar Consumer Survey, January 2020: file:///C:/Us ers/ACER/Desktop /Datas%20 Retail%20and%20whole%20sale%20in%20Myanmar/sea-cb-myanmar-consumer-survey-2020.pdf     



[๑] ประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่ ๒๕/๒๐๑๘ ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๑๘

[๒] ประเทศที่เข้าไปลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งโดยร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น (บริษัทเมียนมา) ได้แก่ (๑) ไทย ๑๒ ราย (๒) จีน ๙ ราย (๓) สิงคโปร์ ๗ ราย (๔) ญี่ปุ่น ๔ ราย (๕) เนเธอร์แลนด์ ๑ ราย (๖) มาเลเซีย ๑ ราย (๗) อินเดีย ๑ ราย (๘) หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ๑ ราย (๙) บังกลาเทศ ๑ ราย

[๓] ประเทศที่เข้าไปลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในเมียนมา โดยมีเจ้าของบริษัทเป็นต่างชาติและถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ ได้แก่ (๑) ไทย ๙ ราย (๒) ญี่ปุ่น ๗ ราย (๓) สิงคโปร์ ๖ ราย (๔) จีน ๕ ราย (๕) เนเธอร์แลนด์ ๒ ราย (๖) สหรัฐอเมริกา ๒ ราย (๗) สวิตเซอร์แลนด์ ๒ ราย (๘) มาเลเซีย ๑ ราย (๙) โปแลนด์ ๑ ราย (๑๐) เยอรมนี ๑ ราย (๑๑) เกาหลีใต้ ๑ ราย

[๔] Zay (ภาษาเมียนมา) แปลว่า ตลาด

 


« Back to Result