ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและประเด็นที่พรรค NLD ให้ความสำคัญ เสถียรภาพ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างสถาบันด้านการคลัง

16 มีนาคม 2559
ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและประเด็นที่พรรค NLD ให้ความสำคัญ เสถียรภาพ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างสถาบันด้านการคลัง

ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและประเด็นที่พรรค NLD ให้ความสำคัญ

เสถียรภาพ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างสถาบันด้านการคลัง

ภาพรวม พรรค NLD มุ่งเสริมสร้างเศรษฐกิจของเมียนมา ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ขยายโอกาส และสร้างความหวังให้แก่ประชาชน ด้วยยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาครัฐ และเสริมสร้างสถาบันที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วม โดยยุทธศาสตร์แบ่งออกเป็น ๖ เสา ดังนี้

๑. การดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ประกอบด้วยการปรับปรุงการบริหารรายได้แผ่นดินและการจัดลำดับความสำคัญโครงการ เพื่อให้บริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส และมีกฎระเบียบด้านการคลังกำกับการดำเนินงาน โดยพรรค NLD ประสงค์ไม่ให้ขาดดุลงบประมาณเกินร้อยละ ๕ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

พรรค NLD ให้ความสำคัญกับการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชนผ่านกระบวนการที่เปิดกว้างและโปร่งใส การเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการปรับปรุงระบบบัญชีรายได้ในสกุลเงินต่างชาติ อาทิ รายได้จากการส่งออกก๊าซนอกชายฝั่ง และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ

ประเด็นท้าทายได้แก่ การหลบหนีภาษี การฉ้อราษฎร์บังหลวง และระบบบัญชีของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยพรรค NLD มุ่งส่งเสริมระบบการชำระภาษีที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้ผู้มีรายได้เสียภาษีโดยไม่หลีกเลี่ยง นอกจากนี้ พรรค NLD จะปรับอัตราภาษี และนำเสนอมาตรการใหม่ ๆ ด้านภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล โดยคาดว่า ระบบการเก็บภาษีที่ดีขึ้น และการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณและอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งเพิ่มอุปสงค์มวลรวม

๒. การปฏิรูปรัฐบาล ประกอบด้วยการสร้างสถาบันหลักที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเมียนมา และการขยายโอกาสให้แก่ประชาชน ผ่านหลักนิติธรรม กรรมสิทธิในทรัพย์สิน ความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้

พรรค NLD มุ่งปฏิรูปให้มีกลไกการบริหารราชการแผ่นดินที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนากฎระเบียบด้านธุรกิจให้ทันสมัย จัดขอบเขตสิทธิและความรับผิดชอบด้านการคลังสำหรับรัฐบาลในระดับต่าง ๆ กระจายรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง และกระจายอำนาจการบริหารให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นจะทราบถึงความต้องการของประชากรในพื้นที่ได้ดีกว่ารัฐบาลส่วนกลาง และสามารถแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นตอ

พรรค NLD จะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณ (participatory budgeting) เพื่อให้การตัดสินใจด้านงบประมาณสะท้อนถึงประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า ที่สาธารณชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินวิธีการใช้งบประมาณ และติดตามการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นการเปิดให้ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ และเพิ่มความไว้วางใจระหว่างสาธารณชนกับรัฐบาล

๓. การพัฒนาการเกษตร พรรค NLD กำหนดให้การพัฒนาการเกษตรเป็นหัวใจของการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านการเพิ่มผลิตทางการเกษตร การเพิ่มการปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง(high value added crops) การพัฒนาศักยภาพทางการเกษตร การใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพเกษตรกร

นอกจากนี้ พรรค NLD ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร นักธุรกิจ และผู้ส่งออกสินค้า รวมทั้งการพัฒนาโรงสีข้าว การเก็บรักษาสินค้าเกษตร และการใช้จ่ายในภาคการเกษตร ตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ โดยจะรีบดำเนินการให้เกษตรกรมีเสรีภาพในการผลิต ปฏิรูประบบ การช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคการเกษตร ปรับปรุงโรงสีข้าว และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาด ทั้งนี้ พรรค NLD ทราบว่าการพัฒนาด้านการเกษตรต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ เพื่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

๔. การสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ประกอบด้วยการสร้างระบบการเงินการคลังที่สามารถสนับสนุนธุรกิจเมียนมา เกษตรกร และครัวเรือน การให้อิสระในการปฏิบัติงานแก่ธนาคารกลางของเมียนมา การสร้างสถาบันด้านการคลัง และพัฒนาตลาด เพื่อให้สามารถโอนและถอนเงินทุนได้อย่างสะดวก

๕. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยการส่งเสริมระบบการขนส่งสาธารณะ การพัฒนาถนน และการพัฒนารางรถไฟ โดยพรรค NLD พร้อมรับความช่วยเหลือและเงินกู้จากต่างชาติรวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินจากภาคเอกชนเมียนมาและภาคเอกชนต่างชาติ นอกจากนี้ พรรค NLDส่งเสริมการเข้าถึงตลาด และการปรับปรุงสถาบันด้านการตลาด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจท้องถิ่นและธุรกิจต่างชาติ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยที่ทันสมัยทั้งในห้องเรียนและที่ทำงาน

๖. การสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนผ่านการส่งเสริมประชาธิปไตย ประกอบด้วยการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที การส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การบริการสาธารณะ และการเพิ่มทางเลือกและโอกาสให้แก่ประชาชน ตลอดจนการขจัดความยากจน และนำความมั่นคั่งมาสู่ประเทศ


« Back to Result