นาง Aung San Suu Kyi ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา พบหารือกับภาคเอกชน สถาบันการคลัง และหุ้นส่วนระหว่างประเทศ

9 พฤศจิกายน 2559

เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ นาง Aung San Suu Kyi (ASSK) ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา ได้พบหารือกับภาคเอกชน และผู้แทนสถาบันการคลังของเมียนมา หุ้นส่วนระหว่างประเทศ (international partners) รวมทั้งคณะทูตานุทูต เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ได้แถลงไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ให้ภาคเอกชน ผู้เสียภาษีอันดับต้น (๑๕๘ คน) ของเมียนมา และสถาบันการเงิน ได้ทราบ โดยมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและผู้ว่าธนาคารแห่งชาติเมียนมา ตลอดจนบุคคลสำคัญในภาคเอกชนได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมา สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. คำกล่าวของนาง ASSK

๑.๑ ภาพรวม นาง ASSK ยอมรับว่าในช่วง ๖ เดือนแรกที่รัฐบาลเข้ารับหน้าที่ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจในลำดับต้น แต่ในขณะนี้ รัฐบาลพร้อมและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างเต็มที่โดยเฉพาะการส่งเสริมการเติบโตทาง ศก. อย่างทั่วถึง (inclusiveness) ให้ความสำคัญกับการขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ส่งเสริมหลักนิติธรรม ความโปร่งใส และการตรวจสอบได้ (accountability) เพื่อให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่า ภาคเอกชนเมียนมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประสงค์ให้ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้จ่ายภาษีรายใหญ่ ดำเนินธุรกิจ ด้วยความรับผิดชอบ

๑.๒ เศรษฐกิจเมียนมา นาง ASSK กล่าวว่า (๑) ประชากรเมียนมายังพึ่งพารายได้จากภาคการเกษตรจำนวนร้อยละ ๗๐ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งเป็นสาขาที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร (๒) เมียนมามีพัฒนาการที่ดีและหลายประเทศประสงค์จะให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมา (๓) รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญ (priorities) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อจะได้บริหารความช่วยเหลือจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๑.๓ งบประมาณ นาง ASSK ประสงค์จะสร้างวัฒนธรรมการจ่ายภาษี (tax paying culture) และส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของสังคมในการจ่ายภาษี โดยขอให้ภาคเอกชน จ่ายภาษี เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

๑.๔ การศึกษา นาง ASSK ให้ความสำคัญกับ (๑) ระบบการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงอาชีวศึกษา (๒) การสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการศึกษา และ (๓) การหาโอกาสใหม่ นอกจากนี้ นาง ASSK กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนความคิด (mindset) ที่เชื่อว่า การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยดีกว่าอาชีวศึกษา เป็น mindset ที่เชื่อว่า การศึกษาที่สามารถทำให้แต่ละคนช่วยเหลือผู้อื่นและช่วยเหลือประเทศได้ เป็นการศึกษาที่ดีที่สุด

๒. คำกล่าวของนาย Kyaw Win รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการคลัง ได้กล่าวถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ สาขาที่มีโอกาสลงทุนและสาขาที่ขาดองค์ความรู้ รวมทั้งประเด็นท้าทาย ดังนี้

๒.๑ กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ รัฐบาลได้ปรับปรุงให้กฎหมายการลงทุนฯ ฉบับใหม่สามารถตรวจสอบได้ มีความโปร่งใส ความชัดเจน มีกระบวนการอนุมัติข้อเสนอโครงการลงทุนที่เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพ การไม่เลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทท้องถิ่นกับบริษัทต่างประเทศ

๒.๒ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว รัฐบาลได้ขยายการพัฒนาไปสู่รัฐ และภูมิภาคอื่น ๆ ของเมียนมานอกเหนือจากเมืองใหญ่ ๆ เช่น ย่างกุ้ง นอกจากนี้ รัฐบาลให้การสนับสนุน SMEs ด้านการเงินและเทคโนโลยี และเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการทำงานร่วมกับภาคเอกชน

๒.๓ โอกาสการลงทุน เมียนมายินดีต้อนรับการลงทุนในด้าน (๑) เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ (quality seeds) เพื่อเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร (๒) เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (๓) โครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้เมียนมาได้รับความช่วยเหลือจาก World Bank, Asian Development Bank (ADB) และ Japan International Cooperation Agency (JICA) (๔) พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าที่สามารถใช้ได้ภายในประเทศ

๒.๔ ระบบการเงินการธนาคาร รัฐบาลจะส่งเสริมการใช้บัตร (card system) การพัฒนาบริการด้านการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile financial services) และกฎระเบียบบริการการโอนเงิน (money transfer services) เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล

๒.๕ การสาธารณสุข รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบริการด้านสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล/คลีนิคของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานที่กรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์

๒.๖ การค้า ขณะนี้ เมียนมาขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาด (market share) ของเมียนมาในการค้าระหว่างประเทศและจะขจัดการค้าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบริษัทและสถาบันด้านการเงินที่ดำเนินการโดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว (look at personal links and take legal actions against crony businesses)

๒.๗ Corporate Social Responsibility (CSR) และความปลอดภัยที่ทำงาน รัฐบาลจะส่งเสริมให้เอกชนสนับสนุนกิจกรรม CSR และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและปลอดภัย

๓. ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของนาย Robert Chua เอกอัครราชทูตสิงคไปร์ประจำเมียนมา และ Dean คณะทูต เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำเมียนมาชื่นชมการจัดการหารือในครั้งนี้ รวมทั้งพัฒนาการในเมียนมาและผลงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา พร้อมแจ้งว่า คณะทูตในเมียนมาพร้อมสนับสนุนการนำนโยบายด้านเศรษฐกิจไปสู่การปฏิบัติ และกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลเมียนมาที่จะ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ อาทิ การขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง การพัฒนากฎหมาย และโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมอาชีวศึกษา ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการในโอกาสแรก นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้า และการลงทุน ดังนี้

๓.๑ การเผยแพร่ข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวหาได้ยาก และสำคัญต่อการวางแผนด้านเศรษฐกิจ การทำการสำรวจตลาด (market survey) ของนักลงทุน รวมทั้งการประเมินสถาบันด้านเศรษฐกิจ พัฒนาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดการเงิน และนวัตกรรม

๓.๒ การลดขั้นตอนการอนุมัติข้อเสนอโครงการลงทุนให้สั้นลง โดยเฉพาะข้อเสนอโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านพลังงาน

๓.๓ การขยายระยะเวลา visa ให้แก่ชาวต่างชาติ เพื่ออำนวยการสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

๔. การอภิปรายโดยนาย Kyaw Kyaw Maung ผู้ว่าธนาคารแห่งชาติ กล่าวถึง

(๑) บทบาทของธนาคารแห่งชาติในการให้บริการด้านธนาคารแก่นักลงทุนต่างชาติตามมาตรฐานสากล และควบคุมภาวะเงินเฟ้อด้วยการกำหนดปริมาณเงินสำรอง (reserve money targeting) พันธบัตรรัฐบาล (Treasury Bill) การประมูลการรับฝากเงิน (deposit auctions) และการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล (deficit financing)

(๒) นโยบายที่มุ่งส่งเสริมให้บริการธนาคารเข้าถึงชุมชนในชนบท โดยธนาคารฯ อยู่ระหว่างการทดลองการให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile banking) และได้ให้ใบอนุญาตการดำเนิน mobile banking แก่ธนาคารจำนวน ๘ แห่งแล้ว

(๓) ขณะนี้ มีธนาคารต่างชาติจำนวน ๑๓ แห่งในเมียนมา และเมียนมาได้อนุญาตให้ธนาคารท้องถิ่นไปเปิดสาขาในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (KBZ Bank เป็นธนาคารเมียนมา รายแรกที่ไปเปิดสาขาในประเทศดังกล่าว)

(๔) การปรับปรุงระบบรายงานสินเชื่อ (credit reporting system)

๕. ข้อเสนอแนะของนาย U Win Aung ประธานสมาพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรม ของเมียนมา (Union of Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry - UMFCCI) แก่รัฐบาล

(๑) การส่งเสริมภาคการผลิต และจัดการรวมกลุ่มด้านธุรกิจการผลิต (manufacturing centre) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างงานและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

(๒) การปรับปรุงระบบการขนส่งทางบก

(๓) การจัดตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชน

(๔) การจัดทำ Renewable Energy Act เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ให้มีการตรวจสอบได้ และเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนด้านพลังงานทดแทน

(๕) การทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้านการค้า

(๖) การต่อต้านการค้าผิดกฎหมาย

(๗) การดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร อาทิ ด้วยการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบมีสัญญา (contract farming)

(๘) การสร้างเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

(๙) การควบคุมดัชนีราคาผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อ

(๑๐) การพัฒนา SME

๖. ข้อคิดเห็นของนาย Khin Maung Aye ประธานสมาคมธนาคารเมียนมา ให้ความสำคัญกับ

(๑) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการสร้างงานด้วยการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ การร่วมทุนระหว่างบริษัทต่างประเทศและบริษัทเมียนมา และการส่งเสริมการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านพลังงาน

(๒) การส่งเสริมการส่งออก เนื่องจากเมียนมาขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ อาทิ การหาสินค้าใหม่ ๆ เพื่อส่งออก และการหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ

(๓) การเปิดธนาคารในทุกภาคส่วนของเมียนมา เพื่อให้ประชาชนในชนบทเข้าถึงแหล่งทุนได้ และการสนับสนุน SME ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน

(๔) การต่อต้านการฟอกเงิน

๗. การอภิปรายโดยนางสาว Nang Laing Khan ผู้บริหาร KBZ Bank กล่าวถึง KBZ Bank และความสำคัญของการจ่ายภาษี ดังนี้

(๑) KBZ Bank เป็นองค์กรที่จ่ายภาษีมากที่สุดในเมียนมาในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา และร่วมมือกับ รัฐบาลในโครงการด้านการพัฒนา อาทิ ด้านการศึกษา และการบริหารจัดการน้ำ

(๒) การเก็บภาษีเป็นส่วนสำคัญของการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล

(๓) รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณอย่างโปร่งใส และพัฒนานโยบายด้านภาษี

(๔) สังคมจะต้องเรียนรู้ และเข้าใจหน้าที่ในการจ่ายภาษี โดยสื่อสามารถช่วยสร้าง ความตระหนักรู้ได้

๘. การอภิปรายโดยนาย Nick Cumpston ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำเมียนมา และผู้ประสานงาน Cooperation Partner Group ชื่นชม (๑) ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและหุ้นส่วนระหว่างประเทศด้านการพัฒนา (๒) นโยบายของรัฐบาลเมียนมาในการส่งเสริมระบบ เศรษฐกิจแบบตลาดที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (๓) การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม และเห็นถึงพัฒนาการในเชิงบวก เช่น กระบวนการสันติภาพ การยกเลิกการคว่ำบาตรเมียนมาโดยสหรัฐฯ บทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคม การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ และการบูรณาการเศรษฐกิจเมียนมาเข้ากับ ASEAN Economic Community (AEC) พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่ รบ. มม. ดังนี้

(๑) ในการกำหนดนโยบายใหม่ ๆ ควรปรึกษาผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินการอย่างโปร่งใสและอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักนิติธรรม

(๒) ลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

(๓) ปฏิรูประบบสาธารณสุข

(๔) สนับสนุน SME

(๕) กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุน ปรับปรุงนโยบายด้านการคลังและการบริหาร ด้านการคลัง

(๖) สนับสนุนสตรี เยาวชน และคนพิการ ให้เข้าถึงแหล่งทุน และการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ

(๗) คุ้มครองแรงงาน บริษัท และสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการจัดทำ environmental impact assessment (EIA) และ social impact assessment (SIA)

(๘) จัดการหารือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหุ้นส่วนระหว่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

๙. การอภิปรายโดยนาย Nobuyasu Akagi ผู้จัดการใหญ่ Sumitomo Banking Corporation สาขาย่างกุ้ง ได้กล่าวถึงบทบาทของธนาคารต่างชาติในเมียนมา ซึ่งได้ (๑) ส่งเสริมการลงทุน จากต่างประเทศ การขยายธุรกิจของบริษัทต่างชาติในเมียนมา และความพร้อมที่จะสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติ เข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น (๒) ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและงานสัมมนา (๓) พัฒนาโครงสร้างของภาคธนาคารในเมียนมา อาทิ ด้วยการให้เงินกู้แก่ SMEs และการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังของธนาคารท้องถิ่น ทั้งนี้ ธนาคารต่างชาติในเมียนมายังสามารถช่วย เศรษฐกิจเมียนมาเพิ่มเติมด้านเงินทุนสำหรับภาคการเกษตร และบริการทางการเงินที่ทั่วถึง (financial inclusion)

********************************************************

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง
พฤศจิกายน ๒๕๕๙


« Back to Result