— หน้าแรก — เกาะติดข่าว — การเยือนรัสเซียและเบลารุสอย่างเป็นทางการของ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council – SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ระหว่างวันที่ 3 – 9 มีนาคม 2568
การเยือนรัสเซียและเบลารุสอย่างเป็นทางการของ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council – SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ระหว่างวันที่ 3 – 9 มีนาคม 2568
19 มีนาคม 2568

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ (Business Information Centre) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้จัดทำข่าวการเยือนรัสเซียและเบลารุสอย่างเป็นทางการของ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council – SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา ระหว่างวันที่ 3 – 9 มีนาคม 2568
1. การหารือระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ กับประธานาธิบดีรัสเซีย
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council – SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมาได้พบหารือกับนาย Vladimir Vladimirovich Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ณ พระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการผลิต มาตรการด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การเกษตร ปศุสัตว์ และสาธารณสุข นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจหลายฉบับ อาทิ การรับรองวุฒิการศึกษา ความร่วมมือด้านภาษี ความร่วมมือด้านสาธารณสุข วัฒนธรรม และกีฬา ความร่วมมือด้านกฎระเบียบความปลอดภัยนิวเคลียร์และรังสีสำหรับการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ความร่วมมือเพื่อการสำรวจทางธรณีวิทยาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือในการสำรวจอวกาศ รวมถึงได้ออกประกาศร่วมเกี่ยวกับร่างความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างสองฝ่าย
2. การหารือระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ กับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ได้พบหารือกับนาย Mikhail Vladimirovich Mishustim นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ณ ทำเนียบรัฐบาลรัสเซีย กรุงมอสโก ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า อุตสาหกรรม การผลิต การเกษตรและการลงทุน ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียม การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ การเชิญชวนนักธุรกิจชาวรัสเซียให้ลงทุนในเมียนมา การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศ และการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงของทั้งสองประเทศ
3. การหารือระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ กับประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจรัสเซีย-อาเซียน
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 พล.อ.อาวุโส มิน ออง ไลง์ ได้ให้การต้อนรับนาย Ivan Polyakov ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจรัสเซีย-อาเซียน ณ โรงแรม Radisson Collection กรุงมอสโก ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกผลไม้จากเมียนมาไปยังรัสเซีย เช่น แตงโมและมะม่วง แผนการรีไซเคิลขยะ และความร่วมมือด้านอวกาศและเทคโนโลยี
4. Myanmar-Russia Economic Forum เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 ณ โรงแรม Radisson Collection กรุงมอสโก สาระสำคัญ ดังนี้
4.1 ฟอรั่มดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำรัสเซีย สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา Myanmar Airways International, Roscongress Foundation, Fund RC-Investments, Russia-ASEAN Business Council และสภาธุรกิจรัสเซีย-เมียนมา โดยมี ดร. Kan Zaw รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศเมียนมา นาย Maxim Gennadyevich Reshetnikov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซีย และนักธุรกิจจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม
4.2 พล.อ.อาวุโส มิน ออง ไลง์ ได้กล่าวปาฐกถาในฟอรั่มดังกล่าว สาระสำคัญ ดังนี้
4.2.1 เมียนมาและรัสเซียประสบความสำเร็จในการจัดการประชุม Inter-Governmental Russia-Myanmar Commission on Trade and Economic Cooperation ครั้งที่ 5 และ Myanmar-Russia Economic Forum ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎหมาย การค้า การลงทุน พลังงาน การขนส่ง การก่อสรง้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคธนาคารและการเงิน สารสนเทศ การสื่อสาร เทคโนโลยี การท่องเที่ยว การศึกษา วิทยาศาสตร์ และสาธารณสุข
4.2.2 ตนมีความพึงพอใจในความร่วมมือกับรัสเซียในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงทางทะเล โดยเมียนมาได้พัฒนากรอบกฎหมายและหวังที่จะลงนามความตกลงเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมถึงเชิญชวนนักธุรกิจรัสเซียให้เข้าไปลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในเมียนมา เพื่อเชื่อมโยงการค้าทางทะเลกับการค้าทางบก
4.2.3 ยินดีที่ฟอรั่มนี้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ในด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และพลังงาน โดยเมียนมาพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนรัสเซียในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโครงการพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการผลิตยาในรัสเซีย
4.2.4 เชิญชวนนักลงทุนรัสเซียให้เข้ามาลงทุนในเมียนมา โดยเน้นถึงศักยภาพของเมียนมาในการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าคุณภาพสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถเข้าถึงตลาดใหญ่ในภูมิภาค เช่น อาเซียน จีน อินเดีย และบังคลาเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตของทั้งสองประเทศในอนาคต
5. การหารือระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ กับผู้ว่าเมือง Novosibirsk
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2568 พล.อ.อาวุโส มิน ออง ไลง์ พบหารือกับนาย Andrey Alexandrovich Travnikov ผู้เมือง Novosibirsk ณ โรงแรม Grand Autograph เมือง Novosibirsk โดยทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมียนมารและเมือง Novosibirsk โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว การค้า การเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างเมือง Novosibirsk และเมืองมัณฑะเลย์ และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อาทิ สาธารณสุข การศึกษา การขนส่ง และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ทั้งสองยังหารือเกี่ยวกับการเปิดสถานกงสุลใหญ่เมียนมา ณ เมือง Novosibirsk และความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเมืองพี่เมืองน้องระหว่างมัณฑะเลย์และเมือง Novosibirsk
6. การเยี่ยมชมโรงงาน JSC Progress
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ได้เยี่ยมชมโรงงาน JSC Progress ของบริษัท Roscosmos ในเมือง Samara รัสเซีย และหารือกับนาย Dmitry Bakanov อธิบดีกรมความร่วมมืออวกาศของรัสเซีย เกี่ยวกับความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีอวกาศอย่างสันติ และการส่งนักศึกษาชาวเมียนมามาศึกษาเรื่องการใช้ดาวเทียม นอกจากนี้ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ยังได้เยี่ยมชมโรงงานประกอบดาวเทียมและผลิตจรวดในระหว่างการเยี่ยมชมโรงงาน PSC Progress
7. การหารือระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ กับผู้ว่าเมือง Saint Petersburg
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ หารือกับนาย Alexander Beglov ผู้ว่าเมือง Saint Petersburg ณ บ้านพักรับรอง สำนักงานรัฐบาลเมือง Saint Petersburg โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือในด้านสาธารณสุข การศึกษา การขนส่ง การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เศรษฐกิจและการค้า และการก่อสร้างวัดเมียนมา และเจดีย์นิกายเถรวาทที่เมือง Saint Petersburg รวมถึงการเปิดสถานกงสุลใหญ่เมียนมาประจำเมือง Saint Petersburg
8. การหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของเมียนมากับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซียเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2568 U Ko Ko Lwin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของเมียนมา หารือกับนาย Pavel Sorokin รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซียที่โรงแรม Radisson Collection Hotel กรุงมอสโก เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งรวมถึงการลงทุนก่อสร้างสถานีรับก๊าซ LNG ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกทวาย (Dawei Deep-Sea Port) สำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออก การพัฒนาท่อส่งก๊าซที่เชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าว การก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และการลงทุนของบริษัทรัสเซียในการสำรวจและผลิตก๊าซและน้ำมันในเมียนมา
9. การลงนามบันทึกความเข้าใจการส่งออกข้าวและนำเข้าปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชระหว่างบริษัทของรัสเซียและเมียนมา
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 บริษัท Starbanner ของเมียนมาและบริษัท Tabiya Limited Liability ของรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจการส่งออกข้าวจากเมียนมาไปยังรัสเซีย และการนำเข้าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจากรัสเซียไปยังเมียนมา
10. Myanmar-Belarus Business Forum เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 ณ โรงแรม Hotel President กรุง Minsk สาระสำคัญ ดังนี้
10.1 พล.อ.อาวุโส มิน ออง ไลง์ ได้กล่าวปาฐกถาในฟอรั่มดังกล่าว สาระสำคัญ ดังนี้
10.1.1 แม้ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างเมียนมากับเบลารุส แต่การหารือได้เดินหน้าไปมาก โดยทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในด้านการทูตและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการศึกษา การเกษตร ปศุสัตว์ ยา อุตสาหกรรม การท้องเที่ยว และการส่งนักศึกษาเมียนมามาศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เบลารุส
10.1.2 การส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรและปุ๋ยเป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถเพิ่มความร่วมมือได้มากขึ้น โดยเบลารุสเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างเมียนมา โดยเมียนมาตั้งเป้าที่จะนำเข้าปุ๋ยมากขึ้น และได้เชิญชวนนักธุรกิจจากเบลารุสให้เข้าไปลงทุนในภาคการผลิตปุ๋ยในเมียนมา นอกจากนี้ เมียนมาประสงค์จะร่วมมือกับเบลารุสเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าโดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูล และพัฒนาเกษตรกรรมสู่ Smart Agriculture ผ่านการทำเกษตรกรรมด้วยเครื่องจักร
10.2 การลงทุนบันทึกความเข้าใจระหว่างเบลารุสและเมียนมา 13 ฉบับ ในฟอรั่มดังกล่าว (1) บริษัท Belarus’ MTZ และบริษัท Myanmar Empire ได้ลงนาม MoU เกี่ยวกับการประกอบรถแทรกเตอร์ BELARUS และลงนามสัญญาส่งมอบรถแทรกเตอร์ 3 รุ่น มูลค่า 50,000 ดอลลาร์ (2) บริษัท Belmedpreparaty และบริษัท Apex Care ได้ลงนามความตกลงการจดทะเบียนยา และ (3) บริษัท Bellakt และบริษัท Myanmar Empire ได้ลงนาม MOU การส่งออกนมผงและอาหารเด็กไปยังเมียนมา นอกจากนี้ ข้อตกลงอื่นๆ ที่ลงนามรวมถึงการส่งออกผ้าทอเชือก อุปกรณ์สำหรับการผลิตผงนม ครีม นมข้นหวาน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปยังเมียนมา การส่งออกสินค้าทะเลไปยังเบลารุส และความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระหว่างสองประเทศ
11. การหารือระหว่าง พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์กับประธานาธิบดีเบลารุส
11.1 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ พบหารือกับนาย Alexander Lukashenko ประธานาธิบดีเบลารุส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีเบลารุส โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงประโยชน์ของความร่วมมือระหว่างเมียนมากับเบลารุสในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ เกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และกลาโหม
11.2 คำกล่าวของ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ไลง์ ต่อสื่อมวลชนภายหลังการหารือกับประธานาธิบดีเบลารุส สาระสำคัญ ดังนี้
11.2.1 เมียนมาและเบลารุสจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม และความมั่นคง
11.2.2 เมียนมาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย สามารถมีบทบาทในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการทำเกษตร ปศุสัตว์ และการขนส่ง รวมถึงยังเป็นผู้ส่งออกข้าวและถั่วรายใหญ่ของโลก จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเมียนมาให้สนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารในระดับโลก โดยการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรและปศุสัตว์สมัยใหม่ของเบลารุสเข้ามาสนับสนุนการทำเกษตรและปศุสัตว์ในเมียนมาก็จะทำให้สามารถมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น
11.2.3 เชิญชวณเบลารุสให้เข้าไปลงทุนในเมียนมาในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะท่าเรือที่ทวาย(Dawei) ทิละวา (Thilawa) และเจ้าก์ผิว (Kyaukphyu)
« Back to Result
Related News