Tax System

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นในเมียนมาร์ ไม่ว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลมีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์ และนอกจากภาษีเงินได้แล้ว การทำกิจการในเมียนมาร์ต้องเสียภาษีประเภทต่างๆ อีกด้วย อาทิ ภาษีการค้า และภาษีศุลกากร สรุปสาระสำคัญของภาษีที่เกี่ยวข้องกับการค้า และการลงทุนของต่างชาติในเมียนมาร์ได้ ดังนี้


1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมียนมาร์ใช้ระบบการเก็บภาษีชั้นเดียว คือการเก็บจากรายได้โดยตรงจากรายได้ของนิติบุคคล โดยมิได้เก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดจากการได้รับเงินปันผลของนิติบุคคล

1.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษี

เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษี เมียนมาร์ได้แบ่งประเภท ของผู้เสียภาษีนิติบุคคลออกเป็น 2 ประเภทคือ

1.1.1 นิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์ (Resident) สถานะของการมีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์นั้นกำหนดได้จากสถานที่ที่จดทะเบียนบริษัทนั้น หากเป็นบริษัท ที่จดทะเบียนในเมียนมาร์ภายใต้กฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยบริษัท (Myanmar Company Act) ถือว่าเป็นบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากรายได้ที่ตนได้รับทั้งในและจากนอกประเทศเมียนมาร์ (Worldwide Income)

1.1.2 นิติบุคคลที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์ (Non-Resident) บริษัทต่างชาติ ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศเมียนมาร์แต่มีรายได้เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ รวมทั้งสาขาของบริษัทต่างชาติจะมีหน้าที่ในการเสียภาษีเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์เท่านั้น ในกรณีของบริษัทที่จัดตั้งโดยกฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยการลงทุนต่างชาติ (FIL) จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะเงินได้ที่มีแหล่งเงินได้มาจากประเทศเมียนมาร์เท่านั้น

1.2 รายได้พึงประเมิน

รายได้พึงประเมินที่ต้องนำมาคำนวณในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด ได้แก่ รายได้จากการประกอบกิจการและธุรกิจรายได้จากทรัพย์สิน หรือรายได้อื่นๆ การคำนวณภาษีทำได้จากการนำเอารายได้ทั้งหมดมาหักค่าลดหย่อนที่เกิดจากการทำธุรกิจ หรือกิจการใดๆ อันทำให้เกิดรายได้นั้นขึ้นตามที่กฎหมายภาษีอนุญาต และหักค่าเสื่อมของโรงงาน เครื่องจักรกล สิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ เป็นต้น เมื่อหักรายได้ออกจากค่าใช้จ่ายที่กฎหมายอนุญาต และค่าเสื่อม ส่วนที่เหลือก็นำมา เป็นฐานในการคำนวณว่าต้องชำระภาษีเท่าใด

1.3 เงินที่เกิดจากการลงทุนในทรัพย์สิน

เมื่อบริษัทได้จำหน่ายสินทรัพย์ที่เป็นทุนของบริษัทไม่ว่าจะเป็นหุ้น ที่ดิน หรือ ยานพาหนะ แล้วเกิดกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์นั้น บริษัทมีหน้าที่ต้องนำกำไรนั้นมาเสียภาษี โดยภาษีจากกำไรในการจำหน่ายสินทรัพย์จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.3.1 ภาษีที่ได้จากการขายสินทรัพย์ของบริษัทที่ทำกิจการก๊าซธรรมชาติ และนํ้ามัน จะต้องเสียภาษีเงินได้จากการจำหน่ายสินทรัพย์ เป็นอัตราร้อยละ 40-50

1.3.2 ภาษีจากกำไรที่มาจากการขายสินทรัพย์โดยบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ และนํ้ามัน ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หรือสินทรัพย์ถาวรอื่นๆ ที่เกินกว่า 100,000 จั๊ต โดยการคำนวณจากต้นทุนของสินทรัพย์และราคาที่ขายไป ผลที่ได้รับคือเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ที่ ร้อยละ 10 แต่หากเป็นคนต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ก็จะต้องเสียภาษีที่ ร้อยละ 40

1.4 รายได้จากเงินปันผล

เงินปันผลที่ได้จากนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศเมียนมาร์ ไม่ต้องเสียภาษี ดังนี้หากคนไทยลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศเมียนมาร์ แล้วได้รับเงินปันผลจากบริษัทดังกล่าว ก็ไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายเมียนมาร์ว่าด้วยภาษีเงินได้ (Myanmar Income Tax Law)

1.5 ค่าลดหย่อน ค่าใช้จ่ายโดยตรงต่างๆ ที่ทำให้เกิดรายได้ รวมทั้งค่าเสื่อม และหนี้เสียที่คิดเป็นหนี้สูญ แล้วจะสามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนที่หักจากรายได้เพื่อคำนวณฐานภาษี ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เป็นทุนทรัพย์ของบริษัท หรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้

1.6 การขาดทุน

หากบริษัทเกิดการขาดทุนในปีนั้นก็สามารถจะนำผลการดำเนินการที่ขาดทุนนั้นไปหักออกจากรายได้ในปีถัดไปได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี

1.7 อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ประเภทของนิติบุคคล อัตราภาษี
นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม Myanmar Companies Act 30%
นิติบุคลที่จัดตั้งขึ้นตาม FIL 30%
บริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการที่ได้รับอนุญาต เป็นพิเศษในโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน 30%
สาขาของบริษัทต่างชาติที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (เสียภาษีจากรายได้ที่เกิดในเมียนมาร์) 30%
สาขาของบริษัทต่างชาติที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (เสียภาษีจากรายได้ที่เกิดในเมียนมาร์) 35% หรือ เสียภาษี อัตราก้าวหน้าที่ 5% - 40% แล้วแต่ว่าตัวเลข ภาษีที่ต้องชำระอันใด สูงกว่า

สำหรับนิติบุคคลที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์นั้นจะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 5% - 40% ของเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้น

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

บุคคลธรรมดาที่มีรายได้มาจากประเทศเมียนมาร์มีหน้าที่เสียภาษี เงินได้ให้กับประเทศเมียนมาร์

2.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเก็บจากชาวเมียนมาร์ และชาวต่างชาติที่มีเงินได้ในประเทศเมียนมาร์ โดยไม่คำนึงว่าเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์หรือไม่ ทั้งนี้ อัตราการเสียภาษีสำหรับผู้มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ จะแตกต่างจากบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ในเมียนมาร์แต่ไม่ได้เป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเมียนมาร์เกินกว่า 182 วันในปีภาษีนั้น โดยคำนวณจากวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคมของทุกปี จะถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์ และหากชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์ต่อเนื่องกันเป็นเวลาตั้งแต่ 90 วันขึ้นไปจะต้องไปขอมีเอกสารที่เรียกว่า ใบรับรองการจดทะเบียนคนต่างชาติ (Foreign Registration Certificate: FRC) ซึ่งผู้ที่ถือเอกสารดังกล่าวนี้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องได้รับการตรวจสอบว่าไม่มีภาระภาษีค้างจ่ายก่อนที่จะเดินทางออกจากประเทศเมียนมาร์ได้ ทั้งนี้ แม้ว่าคนที่อยู่ในเมียนมาร์ไม่ถึง 90 วัน หรือคนที่ทำงานและมีรายได้ในเมียนมาร์จะต้องจ่ายภาษีเงินได้สำหรับเงินรายได้ใดๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์

2.2 รายได้พึงประเมิน รายได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีนั้น คือ รายได้ที่ได้จาก เงินเดือน โบนัส ค่าใช้จ่ายที่นายจ้างจ่ายให้ เช่น ค่าเช่าบ้าน และ ค่ารถ รวมทั้งรายได้ต่างๆ ที่เกิดจากการจ้างงาน เช่น เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บำเหน็จบำนาญ ค่าสมนาคุณ โดยจะนำรายได้ทั้งหมดมาหักกับค่าลดหย่อนที่กฎหมายกำหนด อาทิ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวตามอัตราร้อยละ 20 ของเงินได้ค่าเลี้ยงดูคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเบี้ยประกันชีวิต

2.3 อัตราภาษี

บุคคลธรรมดาที่กฎหมายถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเมียนมาร์นั้นจะมีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้าเหมือนกับประเทศไทย โดยอัตราภาษีอยู่ที่ตั้งแต่ 3% - 30%

3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

3.1 ประเภทของภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ของเมียนมาร์ มีหลายประเภท ดังนี้

ประเภทของเงินได้ อัตราภาษีสำหรับชาวเมียนมาร์ และชาวต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ อัตราภาษีสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์
ดอกเบี้ย - 15%
ค่าใช้สิทธิ์ เช่น ค่าใช้
เครื่องหมายการค้า, สิทธิบัตร และ
ใบอนุญาตต่างๆ
15% 20%
การจ่ายเงินเพื่อการซื้อสินค้า และการให้บริการแก่นิติบุคคลเมียนมาร์ ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรต่างๆ รวมทั้งองค์กรของรัฐตามสัญญาหรือตามความตกลงใดๆ 3% 3.5%
การจ่ายเงินเพื่อการซื้อสินค้า และการให้บริการแก่นิติบุคคลเมียนมาร์ ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรต่างๆ รวมทั้งองค์กรของรัฐตามสัญญาหรือตามความตกลงใดๆ 3% 3.5%

3.2 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ และบริษัทที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ใน เมียนมาร์

  • บริษัทใดที่จ่ายเงินให้กับบริษัทที่มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และนำเงินที่หักไว้นั้นส่งกรมสรรพากรของเมียนมาร์
  • กรณีที่บริษัทต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ได้มีการให้บริการใดๆ ในเมียนมาร์ ผ่านสถานประกอบการถาวร (Permanent Resident) ก็จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3.5% ซึ่งเป็นเหมือนการจ่ายภาษีล่วงหน้า โดยสามารถนำไปหักกับภาษีนิติบุคคลที่ต้องชำระในปีนั้น
  • บริษัทต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในเมียนมาร์ที่ได้ให้บริการหรือส่งออกสินค้าไป เมียนมาร์และไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศเมียนมาร์จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3.5% และถือว่าการชำระภาษีดังกล่าวเป็นการชำระภาษีขั้นท้ายสุดจึงไม่ต้องมีการนำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณเพื่อเสียภาษีหรือหักภาษีอีก
  • บริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศที่มีอนุสัญญาป้องกันการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศเมียนมาร์ จะไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3.5% สำหรับการส่งของเข้าไปยังเมียนมาร์ ถ้าบริษัทนั้นไม่มีสถานประกอบการในเมียนมาร์ แต่หากบริษัทที่ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในเมียนมาร์นั้น มีสถานประกอบการถาวรในประเทศเมียนมาร์ด้วยจะไม่ได้รับยกเว้นจากการชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3.5%

4. ภาษีการค้า

เมียนมาร์ยังไม่ได้ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มในการเก็บภาษีจากการค้าสินค้า หรือการให้บริการ แต่มีการเก็บภาษีการค้า (Commercial Tax) โดยเก็บจากผู้ผลิตสินค้า หรือผู้ให้บริการ โดยเก็บจากการค้าสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศ และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และยังเก็บจากการส่งออกสินค้าด้วย และการให้บริการ อาทิ การขนส่งคนโดยสารกิจ การบันเทิง กิจการโรงแรม ในการเก็บภาษีการค้าสำหรับการส่งออกและนำเข้านั้น กรมศุลกากรจะเป็นผู้เก็บ มีอัตราภาษีตั้งแต่ 5% - 200% อาทิ

  1. สินค้าประเภท บุหรี่ เครื่องดื่มประเภทสุราและของมึนเมา นํ้ามันเชื้อเพลิง ไข่มุก หยก และอัญมณี มีอัตราภาษี 15% - 200%
  2. ตั้งแต่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นมาธุรกิจบริการทุกชนิดต้องเสียภาษี 5% ยกเว้นบางธุรกิจ เช่น ธนาคาร เช่าบ้าน Micro-finance และการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ สินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีพ และสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น นํ้ามันปาล์ม อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในการผ่าตัดและรักษาโรคได้รับยกเว้น ปัจจุบัน ADB อยู่ระหว่างการให้คำปรึกษาและวางระบบให้เมียนมาร์ปรับเปลี่ยนกฎหมาย commercial tax เป็นการใช้ระบบ VAT

5. ภาษีศุลกากร

สินค้าที่นำเข้ามายังเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษีนำเข้าโดยต้องมีกระบวนการผ่านพิธีศุลกากร ขณะที่นำเข้า สินค้าบางรายการอาจได้รับการยกเว้นภาษี อัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 0% - 40%

อย่างไรก็ดี ในฐานะสมาชิกอาเซียน เมียนมาร์จะต้องลดอัตราภาษีศุลกากรลงให้เหลือ 0% ภายในปี 2558 ซึ่งขณะนี้เมียนมาร์ได้ดำเนินการลดภาษีศุลกากรในสินค้าหลายรายการลงเหลือ 0% แล้ว และดำเนินการลดภาษีในรายการที่เหลืออย่างต่อเนื่อง

6. การเสียภาษีในกรณีนำเงินออกนอกประเทศของนักลงทุนต่างชาติในเมียนมาร์

เช่น ดอกเบี้ยที่ได้จากการปล่อยเงินกู้ ต้องเสียภาษีที่ 15% หรือค่าสิทธิ์ต่างๆ (licensing fee) ต้องเสียภาษีที่ 20% หรือแม้กระทั่งการให้บริการต่างๆ เช่น การรับเหมาก่อสร้างในเมียนมาร์ บริษัทในเมียนมาร์จะหัก ณ ที่จ่ายทันที 3.5% และไม่มีการขอคืน


แหล่งอ้างอิง:
  • ข้อมูลด้านการค้าการลงทุน. ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) , คู่มือการค้าการลงทุนในประเทศพม่า (บทที่ 5) (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://www.sme.go.th [14 กันยายน 2555]