Thai Business / Business Opportunities in Myanmar

ธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์

มุ่งเน้นการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมาร์ เนื่องจากเมียนมาร์มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ที่ยังครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเมียนมาร์ และอัญมณีโดยเฉพาะทับทิมที่ได้ชื่อว่าคุณภาพดีที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก รวมถึงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเน้นสาขาธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และเหมืองแร่ ขณะที่การลงทุนในธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจโรงแรมและบริการเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอาหารสัตว์ ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก มีธุรกิจไทยขนาดใหญ่หลายรายที่เข้ามาหรือเตรียมเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ อาทิ

1. บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท. สผ.)
มีโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ ดังนี้

  • แหล่งยาดานา (ร่วมกับ Total ตั้งแต่ปี 41) และเยตากุน (ร่วมกับ Petronas ตั้งแต่ปี 43) ส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังไทยทุกวัน
  • โครงการซอติก้า (ในทะเล)
  • เริ่มผลิตแล้ว ตั้งแต่ มิ.ย. 2557 - M3 (ในทะเล) – กำลังขุดเจาะหลุม
  • M11 (ในทะเล) – กำลังขุดเจาะหลุม
  • PSC-G , EP2 และ MOGE3 (บนบก) – กำลังดำเนินงานสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีแผนที่จะลงทุน 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2558 – 2561

2. CP
ดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์มา ตั้งแต่ปี 2539 สินค้าเป็นที่นิยมในเมียนมาร์ และมีการตั้งโรงงานทั้งที่กรุงย่างกุ้ง และในภาคเหนือตอนกลางของเมียนมาร์ จนถึงปัจจุบันบริษัท CP ลงทุนรวมในเมียนมาร์มูลค่ากว่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่า ในปี 2014 จะมียอดขายสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. SCG
ดำเนินธุรกิจการขายวัสดุก่อสร้าง (ผ่านเอเย่นต์) ในเมียนมาร์มา และขณะนี้ กำลังก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์กำลังผลิต 1.7 ล้านตัน/ปี ที่เมืองเมาะลำไย โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง SCG (ร้อยละ70) กับฝ่ายเมียนมาร์ (ร้อยละ 30) โดยมีเงินลงทุน 378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

4. บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ได้เข้าไปเปิดสถานีบริการน้ำมันบางจากในเมียนมาร์แล้ว 1 แห่ง ที่จังหวัดเมียวดี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในปี 2555 และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 5 แห่งภายในปี 2560

5. บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด
เข้าไปเปิดตลาดในเมียนมาร์เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่ม โดยมีตัวแทนจำหน่ายประจำอยู่ตามแนวชายแดนเมียนมาร์

6. บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
เตรียมขยายการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลเมียนมาร์

Profile of Thai companies investing in Thilawa SEZ


ลู่ทางธุรกิจในเมียนมาร์

เมียนมาร์ มีความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีศักพภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่ เมียนมาร์ เริ่มเปิดประเทศในปี 2553 และดำเนินนโยบายปฏิรูปด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เมียนมาร์ได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศ ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน เมียนมาร์มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อ FDI มีแรงงานที่สามารถพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญได้จำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการรองรับภาคอุตสาหกรรมและการค้าการลงทุน อาทิ เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตและแจกจ่ายกระแสไฟฟ้า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับสากล และพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงความพยายามที่จะควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาร์ได้ก่อให้เกิดผล ที่เป็นรูปธรรมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ดังจะเห็นได้จากประชาชนที่มีกำลังซื้อ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ ระบบโทรคมนาคมที่มีราคาถูกลง และบริการทางการแพทย์และการศึกษาที่ดีกว่าเดิม

นอกจากการปฏิรูปภายในประเทศ โอกาสทางธุรกิจในเมียนมาร์ยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยสนับสนุนภายนอก จากการลงทุนขนาดใหญ่ของต่างชาติ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการคืนสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ GSP ให้กับเมียนมาร์ ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้าและสิ่งทอ สินค้าเกษตรและอาหารทะเล

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจในเมียนมาร์ได้เปิดโอกาสให้กับธุรกิจต่างชาติ ซึ่งรวมถึงธุรกิจจากไทย บริษัทที่ต้องการค้าขายหรือลงทุนในเมียนมาร์จำเป็นต้องก้าวให้ทันเพื่อคว้าโอกาส กำหนดที่ยืนในตลาดและทิศทางกลยุทธ์อย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาประเทศและนโยบายทางเศรษฐกิจของเมียนมาร์ ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดเมียนมาร์ ได้แก่

1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมียนมาร์
ที่มุ่งสู่การเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ทันสมัยและมีระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาการ อาทิ ก่อสร้างถนน เส้นทางคมนาคม การวางระบบประปาและชลประทาน โรงไฟฟ้าและพลังงาน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร

2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
นิคมอุตสาหกรรมซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งของประเทศเมียนมาร์ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Kyaukphyu เขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa และ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Dawei เป็นโครงการสำคัญทางยุทธศาสตร์ในแง่การขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ไทยมีประสบการณ์และความชำนาญที่จะสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมในโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก๊าซปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Kyaukphyu อุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Thilawa และอุตสาหกกรรมหนักและโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึก Dawei

3. ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการปฏิรูปประเทศ
ซึ่งรวมถึงธุรกิจไทยที่มีความชำนาญและความแข็งแกร่ง อาทิ การก่อสร้างที่พักอาศัย เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ รวมถึงรองรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน และผู้ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมียนมาร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง แต่ยังรวมไปถึงเทคนิคการก่อสร้าง การออกแบบ และสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการให้บริการ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคธุรกิจบริการเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเมียนมาร์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าสำเร็จรูปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพฤติกรรมที่หลากหลายของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงธุรกิจสื่อ ธุรกิจโฆษณาและการจัดกิจกรรม event ต่างๆ เทคโนโลยีและความสามารถที่จะตอบสนองความจำเป็นเพื่อการพัฒนาที่หลากหลาย เช่น การศึกษาขั้นสูง การฝึกอบรม เป็นต้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และความงาม เช่น คลินิกรักษาโรคเฉพาะทาง โรงพยาบาลศูนย์สุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการมีสุขภาพดีของประชากรเมียนมาร์ที่ตื่นตัวในเรื่องสุขภาพและมีกำลังซื้อสูง