มัณฑะเลย์กับโอกาสการขยายการค้าและการลงทุน

17 Feb 2020
มัณฑะเลย์กับโอกาสการขยายการค้าและการลงทุน

                                                                        May Thazin Aye 
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา


              ภาคมัณฑะเลย์ ที่ตั้งของเมืองหลวงในอดีตอันรุ่งเรืองของเมียนมาห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศเหนือ ๗๑๖ กิโลเมตร ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๕๗ โดยพระเจ้ามินดง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้เมียนมาอย่างมาก คนไทยจึงรู้จัก มัณฑะเลย์” ในฐานะเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและธรรมชาติสวยงาม แต่หากจะมองในเชิงการค้าและการลงทุน ภาคมัณฑะเลย์ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการเชื่อมโยง (Connectivity) ระดับภูมิภาคและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นหนึ่งในเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart City) ด้วย  

มัณฑะเลย์ : ศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

          เมียนมาแบ่งการปกครองเป็น ๗ รัฐ และ ๗ ภาค รวมทั้งภาคมัณฑะเลย์ ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของเมียนมา (ประมาณร้อยละ ๑๕ ของการเจริญเติบโตของเมียนมา) รองจากกรุงย่างกุ้งประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วลิสง งา ฝ้าย ถั่วเมล็ดแห้ง ใบยาสูบ พริก และผัก

          ภาคมัณฑะเลย์มีความสำคัญในฐานะแหล่งอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ มีเขตนิคมอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ (Mandalay Industrial Zone) ซึ่งมีโครงการการลงทุนมากกว่า ๑,๒๐๐ โครงการครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้ อาหารและเครื่องดื่ม และเหล็ก ปัจจุบัน มีนักลงทุนไทยเข้าไปทำธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และจัดจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย

          ภาคมัณฑะเลย์เป็นตลาดค้าหยกและอัญมณีที่สำคัญของเมียนมาเนื่องจากอยู่ใกล้กับเมืองโมกก ซึ่งเป็นแหล่งหยก ทับทิมและไพลิน มีพ่อค้าต่างชาติเข้ามารับซื้ออัญมณีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

          ภาคมัณฑะเลย์เป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญในการเดินทางและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมียนมาครอบคลุมเมืองพุกาม ซึ่งเป็นเมืองทุ่งทะเลเจดีย์ที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งล่าสุดของเมียนมา และยังใกล้กับทะเลสาบอินเลที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติและผู้คนที่อาศัยในบริเวณนี้ นอกจากนี้เมืองมัณฑะเลย์ยังติดกับั้เมืองพินอูลวินซึ่งเป็นเมืองตากอากาศที่มีธรรมชาติและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้อุตสาหกรรมโรงแรมและภาคการบริการขยายตัวตามไปด้วย

 มัณฑะเลย์ : ศูนย์กลางการเชื่อมโยงของภูมิภาค

          ด้วยที่ตั้งที่อยู่ใจกลางของประเทศส่งผลให้ภาคมัณฑะเลย์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะการเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเมียนมา ไทย จีน อินเดีย บังกลาเทศ และลาว อันจะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านคมนาคมและขนส่ง โดยมีแนวทางการพัฒนาความเชื่อมโยงตามแนวคิด และโครงการต่าง ๆ ได้แก่ โครงการทางหลวงเชื่อมอินเดีย เมียนมา และไทย (India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway) ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor) ทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor  CMEC) และ โครงการ Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ก็เป็นศูนย์กลางของคมนาคมทางอากาศ

          มัณฑะเลย์ : เมืองอัจฉริยะระดับภูมิภาค

          เมืองมัณฑะเลย์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระดับเมืองและภาคเมืองมัณฑะเลย์จึงจะเป็นหนึ่งในสามเมืองที่ร่วมโครงการ “ASEAN Smart Cities” กับกรุงเนปิดอและกรุงย่างกุ้งด้วย

          ด้วยศักยภาพที่มีอย่างมากมายในการขยายการค้าและการลงทุนในภาคมัณฑะเลย์และเมียนมา ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักธุรกิจและผู้สนใจเข้าร่วมงาน “The 2nd Mandalay International Trade Fair & Business Forum 2020” ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่ Mandalay Convention Center เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจในภาคมัณฑะเลย์ และการชมการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ในงานดังกล่าว ตลอดจนการเข้าร่วมการสัมมนาที่มีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนของภาคมัณฑะเลย์และเมียนมาร่วมอภิปรายด้วย 

          รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ https://tradefair.mrcci.org.mm/  


« Back to Result