ข้อมูลด้านการค้าและการลงทุน

นโยบายส่งเสริมการลงทุน /กฎระเบียบด้านธุรกิจ/การจัดตั้งธุรกิจ

ภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนในเมียนมา ไตรมาส ๓ ของปี ๒๕๖๐ มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจาก (๑) องค์กรทางเศรษฐกิจหลายแห่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตอย่างน้อยร้อยละ ๗ ในระยะกลาง โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ World Bank คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตร้อยละ ๖.๕ Asian Development Bank ร้อยละ ๗.๗ และ IMF ร้อยละ ๖.๗ เนื่องจากการเติบโตในภาคการเกษตร การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ รัฐบาลเมียนมา โดยการกระทรวงวางแผนและการคลังเมียนมา ได้แถลงเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงถึงร้อยละ ๗ ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานด้านการเกษตร การผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนา SME ด้านการเกษตร รวมทั้งการสนับสนุน SME ที่เน้นการส่งออก และการผลิตเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า

ปัจจัยที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ (๑) กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมอบอำนาจในการอนุมัติข้อเสนอโครงการลงทุนให้แก่รัฐบาลระดับภูมิภาค เพื่อกระจายอำนาจ ในการตัดสินใจ เพิ่มประสิทธิภาพในการอนุมัติข้อเสนอโครงการลงทุน และส่งเสริมการเติบโต ทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ตลอดจนเพิ่มความชัดเจนเกี่ยวกับสาขาลงทุนที่สงวนเฉพาะสำหรับ คนเมียนมา อาทิ การผลิตเครื่องมือด้านการทหาร และระบุสาขาที่ต้องการการสนับสนุน ได้แก่ การเกษตร ป่าไม้ การแปรรูปอาหาร งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ โรงแรมและการท่องเที่ยว บริการ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา การผลิตพลังงานทดแทน บริการ ด้านคมนาคม การก่อสร้างท่าเรือ การก่อสร้างเขตอุตสาหกรรม (industrial zones) และการบำรุงรักษาท่าอากาศยาน (๒) จำนวนธนาคารต่างประเทศในเมียนมาซึ่งเพิ่มมากขึ้น และสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ โดยขณะนี้ มีสาขาธนาคารต่างประเทศ จำนวน ๑๓ แห่ง รวมทั้งธนาคาร กรุงเทพของไทย และยังมีธนาคารไทยอีก ๕ แห่ง ได้เปิดสำนักงานตัวแทนที่กรุงย่างกุ้งแล้ว ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ EXIM Bank และ (๓) นโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงของรัฐบาล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ มูลค่าการลงทุนจากต่างชาติในเมียนมามีมูลค่า ๖.๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีงบประมาณ ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ ที่มีมูลค่า ๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศลดลง คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการแต่งตั้งคณะกรรมการลงทุนของเมียนมาชุดใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการลงทุนต่าง ๆ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ มีการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาปศุสัตว์และการประมง การผลิต พลังงาน คมนาคม การสื่อสาร โรงแรมและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์และภาคบริการ โดยสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ ๑ ในเมียนมา โดยลงทุน ๓.๘๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ ๒ คือ เวียดนาม ลงทุน ๑.๓๘ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ ๓ คือ จีน ลงทุน ๔๘๒.๕๙๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ ๔ คือไทย ลงทุน ๔๒๓.๐๕๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ - ๒๕๖๑ คณะกรรมการ การลงทุนของเมียนมาให้ข้อมูลกับสื่อเมียนมาว่า การลงทุนน่าจะเกิน ๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่มความชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสาขาลงทุนที่สงวนไว้สำหรับชาวเมียนมา และส่งเสริมสิ่งจูงใจด้านภาษีอากร รวมทั้งสาขา ที่นักลงทุนต่างชาติสามารถร่วมทุนกับนักลงทุนเมียนมาได้ อาทิ การวิจัยด้านนาวิกโยธิน สาขาน้ำดื่ม สาขาการเคหะ โดยในการร่วมทุนระหว่างบริษัทเมียนมากับบริษัทต่างชาติ บริษัทเมียนมาจะต้องได้รับผลตอบแทนจากโครงการร่วมทุนอย่างน้อยร้อยละ ๒๐

รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการค้าและมีแผนจะเพิ่มมูลค่าการส่งออก ๓ เท่าภายในปี ๒๕๖๓ โดยเฉพาะการส่งออกสิ่งทอ สินค้าเกษตร และชากาแฟ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการ และการร่วมทุน (joint venture) นอกจากนี้ เมียนมาได้ร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ และเข้าร่วมการประชุมอาเซียนและการประชุมระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งมีนโยบายที่จะพัฒนาให้เมียนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวหลัก (major rice exporter)

เมียนมามีโอกาสทางการค้าสูงขึ้นภายหลังที่สหรัฐฯ ได้ยกเลิกนโยบายคว่ำบาตร ด้านเศรษฐกิจและให้สิทธิ GSP คืนแก่เมียนมาเมื่อปี ๒๕๕๙ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะลด อปุสรรคด้านการค้า (reduce trade barriers) โดยได้ออกกฎระเบียบใหม่ด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้าเมื่อปี ๒๕๕๙ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินการค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐบาล ตระหนักดีว่ายังต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งภายในประเทศและคลังสินค้า

รัฐบาลเมียนมาคาดว่าการค้าภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมียนมามีร้านค้าและร้านสะดวกซื้อมากขึ้น (supermarkets and convenience stores) อีกทั้งมีพัฒนาการด้าน e-commerce อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบรรเทิง นอกจากนี้ รัฐบาลได้เปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงานตัวแทนและสาขาในเมียนมา รวมทั้งมีนโยบายที่จะเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาให้บริการด้านประกันภัยในเร็ว ๆ นี้

ในด้านการค้า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของเมียนมาในอาเซียน โดยเมียนมาส่งออกไปไทยเป็นอันดับ ๒ รองจากจีน และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ ๓ รองจากจีน และสิงคโปร์ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาได้ลดลงระหว่างปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙ เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง และการที่เมียนมาได้เปิดประเทศ และขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น ทำให้เมียนมามีทางเลือกด้านการค้ามากขึ้น ทั้งนี้ ดุลการค้าของไทยได้เพิ่มมากขึ้นราว ๓ เท่า จาก ๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๑,๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๕๙ และในปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ ไทยได้ดุลการค้าเมียนมาราว ๑,๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเมียนมาส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และปูนซีเมนต์

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเมียนมามากที่สุด ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค สัตว์มีชีวิตที่ไม่ได้ทำพันธุ์ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผักผลไม้ และผลไม้แปรรูป

**************************************



กฎมายการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Law - MIL)

มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗)

MIL เป็นการนำเนื้อหาของกฎหมายการลงทุนโดยชาวต่างชาติ และกฎหมายการลงทุนโดยชาวเมียนมามารวมเป็นฉบับเดียวกัน เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม ของกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ จากนักลงทุนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ อีกทั้ง Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ก็มีข้อเสนอแนะให้เมียนมาปรับกฎหมายการลงทุนเป็นฉบับเดียว โดยในการยกร่างกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ หน่วยงานเมียนมาได้ศึกษาแนวปฏิบัติ ที่ดีจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วย สรุปสาระสำคัญของ MIL ดังนี้

(๑) การจัดเตรียมเอกสารน้อยลง แต่เดิมนักลงทุนจำเป็นต้องเตรียมเอกสารหลายฉบับ

เพื่อมอบให้คณะกรรมการลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Commission – MIC) ประกอบการพิจารณาข้อเสนอโครงการ โดย MIC จะประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงมหาดไทยเรื่องการใช้ที่ดิน และกระทรวงเกษตร เรื่องการลงทุนด้านเกษตร เพื่อร่วมพิจารณาข้อเสนอ ทำให้กระบวนการพิจารณาข้อเสนอโครงการลงทุนใช้เวลานาน

(๒) บัดนี้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (permit) จาก MIC เฉพาะการลงทุนใน ๕ สาขา เท่านั้น ได้แก่

(๒.๑) โครงการลงทุนที่เป็นกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเมียนมา ได้แก่

  • โครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน ๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสาขาสารสนเทศ การสื่อสาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ โลจิสติกส์ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ
  • โครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน ๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของเมียนมา
  • โครงการลงทุนในพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง
  • โครงการลงทุนที่ข้ามเขตแดนระหว่างรัฐ หรือภูมิภาคของเมียนมา
  • โครงการลงทุนที่ใช้ที่ดินเกิน ๑,๐๐๐ เอเคอร์

(๒.๒) โครงการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เกิน ๑๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(๒.๓) โครงการลงทุนที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชมท้องถิ่น

  • โครงการที่จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)
  • โครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพื่นที่ที่มีความหลากหลาย ทางชีวภาพสูง หรือพื้นที่ที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม

(๒.๔) โครงการลงทุนบนที่ดินของรัฐบาลเมียนมา หรืออาคารของรัฐบาลเมียนมา

(๒.๕) โครงการลงทุนที่รัฐบาลเมียนมากำหนดว่าต้องส่งข้อเสนอโครงการให้ MIC พิจารณา

(๓) กำหนดให้รัฐบาลระดับรัฐ และระดับภูมิภาค
สามารถให้ความเห็นขอบข้อเสนอโครงการลงทุนทีมีมูลค่าต่ำกว่า ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(๔) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
โดยนักลงทุนที่ลงทุนในพื้นที่ที่มีระดับพัฒนาต่างกัน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร (tax incentive) แตกต่างกันไป หากลงทุน ในพื้นที่ด้อยพัฒนา พัฒนาปานกลาง และพัฒนาแล้ว จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นจำนวน ๗, ๕ และ ๓ ปีตามลำดับ

(๕) การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (permit) จาก MIC
มีกำหนดแน่นอน โดยเมื่อยืนข้อเสนอโครงการลงทุนแก่ MIC แล้ว MIC จะตรวจสอบเอกสารทั้งหมดภายใน ๑๐ วัน ให้ความเห็นชอบโครงการภายใน ๖๐ วัน และออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (issuance of permit) ภายใน ๑๐ วัน รวม ๘๐ วัน

(๖) การขอรับความเห็นชอบ (endorsement) จาก MIC
สำหรับข้อเสนอโครงการมูลค่าเกิน ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และความเห็นชอบจากรัฐบาลระดับท้องถิ่น กรณีข้อเสนอโครงการมูลค่าต่ำกว่า ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนแล้ว หน่วยงานเมียนมา จะให้ความเห็นชอบภายใน ๓๐ วัน และออกใบรับรองการให้ความเห็นชอบ (issuance of endorsement) ภายใน ๑๐ วัน รวม ๔๐ วัน

(๗) การขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี (tax incentive)
เมื่อยื่นใบขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแล้ว หน่วยงานเมียนมาจะพิจารณาภายใน ๓๐ วัน และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี (issuance of tax incentive) ภายใน ๑๐ วัน

(๘) การรับรองสิทธิในการใช้ที่ดิน
เมื่อยื่นใบสมัครสิทธิในการใช้ที่ดิน หน่วยงานเมียนมาจะให้ความเห็นชอบภายใน ๓๐ วัน และออกใบอนุญาตสิทธิด้านที่ดิน (issuance of the land rights authorization) ภายใน ๑๐ วัน รวม ๔๐ วัน

(๙) สาขาที่รัฐบาลต้องการการลงทุน
ได้แก่ การเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ การประมง การผลิต การสร้างเขตอุตสาหกรรม การสร้างเมืองใหม่ (new urban areas) การพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งและบริการด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม การศึกษา บริการด้านสาธารณสุข บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงแรมและการท่องเที่ยว และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์

(๑๐) MIL แตกต่างจากกฎหมายลงทุนฉบับก่อน
เนื่องจากมีกลไกให้นักลงทุนสามารถร้องเรียนได้ (investor grievance mechanism) ภายใต้ MIC

กฎหมายว่าด้วยการลงทุนแห่งเมียนมา

(กฎหมายรัฐบัญญัติฉบับที่ 40/2016) แรม 2 ค่ำ เดือน 11 จุลศักราช 1378
(วันที่ 18 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2559) รัฐสภาได้ตรากฎหมายนี้ไว้ดังต่อไปนี้


หมวด 1
ชื่อกฎหมายและคำจำกัดความ

  1. กฎหมายนี้เรียกว่า กฎหมายว่าด้วยการลงทุนแห่งเมียนมา
  2. ในกฎหมายฉบับนี้ ให้คำต่อไปนี้มีความหมายดังนี้
    (เอ) สหภาพเมียนมา หมายความว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
    (บี) ประธานาธิบดี หมายความว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
    (ซี) รัฐบาล หมายความว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
    (ดี) กระทรวง หมายความว่า กระทรวงการวางแผนและการเงินแห่งรัฐบาลเมียนมา
    (อี) คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมาที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายนี้
    (เอฟ) กรรมการ หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา และหมายความรวมถึงประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ
    (จี) สำนักงานคณะกรรมการ หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านการลงทุนและบริษัท ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินการของคณะกรรมการ
    (เอช) เลขานุการ หมายความว่า เลขานุการของคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา ซึ่งรับผิดชอบการดำเนินการด้านการบริหารจัดการของสำนักงานคณะกรรมการ
    (ไอ) คำขอ หมายความว่า คำขอที่ผู้ลงทุนยื่นตามแบบที่กำหนด พร้อมสัญญาและเอกสารตามที่กำหนดให้ต้องยื่นพร้อมกัน เพื่อขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการสำหรับการลงทุนที่ผู้ลงทุนประสงค์จะลงทุน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 36
    (เจ) ใบอนุญาต หมายความว่า คำสั่งอนุญาตของคณะกรรมการเกี่ยวกับคำขออนุญาตลงทุนที่ยื่นโดยผู้ลงทุน
    (เค) คำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบ หมายความว่า คำขอที่ผู้ลงทุนยื่นตามแบบที่กำหนด พร้อมสัญญาและเอกสารตามที่กำหนดให้ต้องยื่นพร้อมกัน เพื่อขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการเพื่อให้มีสิทธิได้รับประโยชน์เกี่ยวกับการใช้สิทธิในที่ดินตามหมวด 12 และได้รับการยกเว้นและการลดหย่อนตามข้อ 75 ข้อ 77 และข้อ 78 ในหมวด 17
    (แอล) คำสั่งให้ความเห็นชอบ หมายความว่า คำสั่งให้ความเห็นชอบที่คณะกรรมการให้ตามคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ยื่นโดยผู้ลงทุน
    (เอ็ม) พลเมือง หมายความว่า พลเมืองเมียนมา พลเมืองเมียนมาประเภท Associate citizen หรือพลเมืองที่แปลงสัญชาติเป็นชาวเมียนมา (Naturalized citizen) เพื่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ โดยให้หมายความรวมถึงนิติบุคคลที่ประกอบด้วยพลเมืองเท่านั้นด้วย
    (เอ็น) ผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมา หมายความว่า พลเมืองซึ่งลงทุนในสหภาพเมียนมา โดยให้หมายความรวมถึงบริษัทเมียนมาและสำนักงานสาขาของบริษัทเมียนมา ตลอดจนนิติบุคคลอื่นที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายบริษัทแห่งเมียนมา
    (โอ) ผู้ลงทุนต่างชาติ หมายความว่า บุคคลซึ่งลงทุนในสหภาพเมียนมาที่ไม่ใช่พลเมือง โดยให้หมายความรวมถึงบริษัทต่างชาติ สำนักงานสาขาของบริษัทต่างชาติ และนิติบุคคลอื่นที่จดทะเบียนและจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายบริษัทแห่งเมียนมาและนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งประเทศอื่นใด
    (พี) ผู้ลงทุน หมายความว่า ผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมา หรือผู้ลงทุนต่างชาติซึ่งลงทุนในสหภาพเมียนมาตามกฎหมาย
    (คิว) การลงทุน หมายความว่า ทรัพย์สินใดๆ ที่ผู้ลงทุนเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ควบคุมตามกฎหมายนี้ และรวมถึงการลงทุนตามที่กล่าวไว้ในข้อ 40 ด้วย
    (อาร์) การลงทุนโดยตรง หมายความว่า การลงทุนซึ่งผู้ลงทุนมีอำนาจควบคุม ครอบงำ หรือจัดการทรัพย์สินที่ผู้ลงทุนนำมาลงทุนในสหภาพเมียนมาตามกฎหมาย
    (เอส) การลงทุนโดยผู้ลงทุนต่างชาติ หมายความว่า การลงทุนโดยตรงใดๆ ในสหภาพเมียนมาโดยผู้ลงทุนต่างชาติ
    (ที) นิติบุคคล หมายความว่า
    (i) นิติบุคคลใดๆ รวมถึงบริษัท ทรัสต์ ห้างหุ้นส่วน กิจการที่มีเจ้าของรายเดียว กิจการร่วมค้า สมาคมทางธุรกิจ หรือองค์กรอื่นในลักษณะเดียวกัน ซึ่งจัดตั้งหรือได้รับจดทะเบียนให้ประกอบกิจการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    (ii) สำนักงานสาขาของนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    (ยู) สกุลเงินที่ใช้ได้โดยเสรี หมายความว่า สกุลเงินของสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ใช้ในการชำระเงินสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศและใช้ในการแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศตามข้อ 30(เอฟ) แห่งข้อสัญญาแห่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมใดๆ
    (วี) การยกเว้นและการลดหย่อน หมายความว่า การยกเว้นและการลดหย่อนภาษีเงินได้ ภาษีศุลกากร และภาษีอื่นๆ ที่จัดเก็บภายในประเทศ ที่คณะกรรมการอาจพิจารณาให้ตามคำขอของผู้ลงทุนสำหรับการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการตามกฎหมายนี้
    (ดับเบิลยู) มาตรการ หมายความว่า กฎหมาย หลักเกณฑ์ ระเบียบ วิธีการ คำตัดสิน และการกระทำทางปกครองที่ประกาศใช้หรือกำหนดโดยกรม หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรมหรือหน่วยงานของรัฐ

หมวด 2
วัตถุประสงค์

  1. กฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
    (เอ) เพื่อพัฒนาให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อประโยชน์ของสหภาพเมียนมาและพลเมืองของสหภาพเมียนมา
    (บี) เพื่อปกป้องผู้ลงทุนและการลงทุนของผู้ลงทุนตามกฎหมายนี้
    (ซี) เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่ประชาชน
    (ดี) เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
    (อี) เพื่อพัฒนาให้ภาคการผลิต ภาคบริการ และการค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างสูง
    (เอฟ) เพื่อให้เกิดการพัฒนาในด้านเทคโนโลยี เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม
    (จี) เพื่อยกระดับวิชาชีพต่างๆ รวมถึงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วสหภาพเมียนมา
    (เอช) เพื่อให้พลเมืองมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับต่างชาติ และ
    (ไอ) เพื่อพัฒนาให้ธุรกิจและการลงทุนเป็นไปตามมาตรฐานสากล

หมวด 3
ขอบเขตของกฎหมาย

  1. กฎหมายนี้ใช้บังคับกับการลงทุนทั้งหมดในสหภาพเมียนมา ทั้งที่มีอยู่แล้ว ณ วันที่กฎหมายนี้เริ่มมีผลบังคับใช้ และที่มีขึ้นใหม่ แต่ไม่ใช้บังคับกับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้วหรือการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตแล้วแต่ถูกระงับการประกอบกิจการของตนก่อนวันที่กฎหมายนี้เริ่มมีผลบังคับใช้
  2. กฎหมายนี้ใช้กับมาตรการการลงทุนใดๆ ที่ออกโดยกรมและหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่มาตรการตามบทบัญญัติในหมวด 21 และหมวด 22 ของกฎหมายนี้

หมวด 4
การจัดตั้งคณะกรรมการ

  1. ให้คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้
    (เอ) ประธานกรรมการ ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งจากสมาชิกของรัฐบาลที่ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอรายชื่อ
    (บี) รองประธานกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล
    (ซี) กรรมการ ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งจากบุคคลที่เหมาะสมซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในกระทรวง กรม หน่วยงานของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ
    (ดี) เลขานุการ ซึ่งแต่งตั้งโดยตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการ
  2. ให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการเก้ารายหรือกว่านั้นซึ่งเป็นจำนวนคี่เมื่อรวมเลขานุการแล้ว โดยมีบุคคลตามที่กล่าวไว้ในข้อ 6
  3. กรรมการในคณะกรรมการที่ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษและเบี้ยเลี้ยงตามที่กระทรวงอนุญาต
  4. ห้กรรมการในคณะกรรมการทุกรายเว้นแต่เลขานุการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระตามตำแหน่งของตนในรัฐบาล สำหรับเลขานุการซึ่งเป็นข้าราชการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือน
  5. กรรมการในคณะกรรมการจะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดกันไม่ได้
  6. ให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ภายในสองเดือนนับจากวันที่จัดตั้งรัฐบาล
  7. ให้หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการดำรงตำแหน่งเลขานุการของคณะกรรมการ และปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนด
  8. ประธานกรรมการอาจทำหนังสือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รายใดๆ ของสำนักงานคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของคณะกรรมการก็ได้ ในกรณีที่มีการมอบหมายหน้าที่ดังกล่าว ผู้ได้รับมอบหมายต้องปฏิบัติหน้าที่เท่าที่ระบุไว้ในหนังสือมอบหมายหน้าที่เท่านั้น ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้โดยการทำหนังสือบอกกล่าว

หมวด 5
การลาออกจากตำแหน่ง การถูกปลดออกจากคณะกรรมการ และการแต่งตั้งสำหรับตำแหน่งที่ว่าง

  1. ประธานกรรมการอาจออกจากตำแหน่งในระหว่างวาระของตนโดยสมัครใจได้โดยการยื่นหนังสือลาออกต่อรัฐบาล โดยต้องได้รับความเห็นชอบของประธานาธิบดี
  2. กรรมการในคณะกรรมการ เว้นแต่ประธานกรรมการ ที่ประสงค์จะออกจากตำแหน่ง อาจร้องขอต่อประธานกรรมการและออกจากตำแหน่งได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล
  3. รัฐบาลอาจปลดกรรมการในคณะกรรมการรายหนึ่งๆ ได้หากกรรมการรายนั้น
    (เอ) มีปัญหาสุขภาพถึงขนาดที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อีกต่อไป ตามที่วินิจฉัยโดยคณะกรรมการการแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
    (บี) ตาย
    (ซี) ได้รับโทษทางอาญาตามคำพิพากษาของศาล
    (ดี) เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามคำสั่งศาล
    (อี) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างเหมาะสม
  4. ให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
    (เอ) รัฐบาลต้องแต่งตั้งกรรมการรายใหม่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายนี้หากมีตำแหน่งในคณะกรรมการว่างลงเนื่องจากกรรมการออกจากตำแหน่ง ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ตาย หรือด้วยเหตุอื่นใด
    (บี) หากตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง รัฐบาลอาจแต่งตั้งให้รองประธานกรรมการ หรือกรรมการในคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการได้ชั่วคราว ในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งประธานกรรมการรายใหม่
  5. กรรมการในคณะกรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการรายใหม่ เว้นแต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากลาออกหรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง
  6. โดยไม่คำนึงถึงวาระตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเนื่องจากตำแหน่งว่างลงตามข้อ 17 อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ หรือกรรมการในคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
  7. เลขานุการมีหน้าที่ปฏิบัติงานในแต่ละวันของคณะกรรมการ ตลอดจนหน้าที่ด้านการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ของคณะกรรมการ
  8. หากกรรมการในคณะกรรมการมีส่วนได้เสียไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมในข้อเสนอที่ยื่นต่อคณะกรรมการ กรรมการรายนั้นต้องแถลงให้ทราบถึงส่วนได้เสียนั้นโดยชัดแจ้ง โดยให้บันทึกการแถลงดังกล่าวไว้ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการ และในกรณีดังกล่าว กรรมการรายนั้นจะไม่มีสิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การทำกิจกรรม และการปรึกษาหารือของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับข้อเสนอนั้น
  9. หากกรรมการในคณะกรรมการมีส่วนได้เสียไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมในคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ยื่นต่อคณะกรรมการ กรรมการรายนั้นต้องแถลงให้ทราบถึงส่วนได้เสียนั้นโดยชัดแจ้ง โดยให้บันทึกการแถลงดังกล่าวไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการ และในกรณีดังกล่าว กรรมการรายนั้นจะไม่มีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการใดๆ ของสำนักงานคณะกรรมการที่เกี่ยวกับคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบนั้น

หมวด 6
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

  1. คณะกรรมการมีสิทธิใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างอิสระ เว้นแต่การนั้นจะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายนี้
  2. คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
    (เอ) ส่งเสริมการลงทุนของสหภาพเมียนมา
    (บี) ทำหน้าที่เป็นส่วนราชการหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการประสานงานกับผู้ลงทุนและผู้สนใจลงทุน
    (ซี) จัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนและการลงทุนของผู้ลงทุน
    (ดี) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายการลงทุนแก่กระทรวงของสหภาพเมียนมา และส่วนราชการของเขตและของรัฐ ในเรื่องการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ด้านเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน
    (อี) ออกแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งแก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ
    (เอฟ) รายงานกิจกรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการให้ประธานาธิบดีและรัฐบาลทราบในทุกๆ สามเดือน
    (จี) รายงานเป็นประจำทุกปีเกี่ยวกับสถานะของการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้วว่าเสร็จสิ้นหรือดำเนินไปได้เพียงใด โดยเสนอรายงานนั้นต่อรัฐสภาผ่านทางรัฐบาล
    (เอช) โดยร่วมกับสภาแห่งเนปยีดอและส่วนราชการของเขตและของรัฐ มอบอำนาจในการดำเนินการลงทุนที่รัฐบาลอาจให้ความเห็นชอบโดยพิจารณาจากประเภทของการลงทุน หรือสภาพของทรัพยากรธรรมชาติ หรือการสร้างโอกาสทางอาชีพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเขตและรัฐต่างๆ รวมถึงดินแดนสหภาพ
    (ไอ) ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเพื่ออำนวยความสะดวกหรือส่งเสริมการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างชาติ
    (เจ) ดำเนินการต่อผู้ลงทุนตามกฎหมาย วิธีการ และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องหากปรากฏว่าเมื่อผู้ลงทุนพบทรัพยากรธรรมชาติหรือโบราณวัตถุ ผู้ลงทุนได้เข้าครอบครอง เปลี่ยนแปลง หรือปกปิดสิ่งดังกล่าวไว้โดยไม่แจ้งให้ทราบ
    (เค) ตรวจสอบว่าผู้ลงทุนและการลงทุนของผู้ลงทุนเป็นไปตามกฎหมายนี้ ตลอดจนหลักเกณฑ์ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับ วิธีการ และข้อสัญญาหรือไม่ และดำเนินการให้แน่ใจว่าหากผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตาม และดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ลงทุนและการลงทุนของผู้ลงทุนที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบดังกล่าว
    (แอล) ตรวจสอบกรณีที่มีการยกเว้นและการลดหย่อน และการลงทุนที่ถูกจำกัด และรายงานการตรวจสอบดังกล่าวต่อรัฐบาล
    (เอ็ม) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐบาลมอบหมายเป็นครั้งคราว
  3. เพื่อวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้
    (เอ) ออกประกาศโดยความเห็นชอบจากรัฐบาลหลังจากที่ได้กำหนดอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมการลงทุนและประเภทการลงทุนที่ถูกจำกัดหรือต้องห้าม
    (บี) โดยความเห็นชอบของรัฐบาล กำหนดประเภทการลงทุนที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ของสหภาพเมียนมา โครงการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และโครงการที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น
    (ซี) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ลงทุนที่ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการหากคำขอนั้นเป็นประโยชน์ต่อสหภาพเมียนมาและเป็นไปตามกฎหมาย และปฏิเสธคำขอหากคำขอนั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว
    (ดี) ดำเนินการตรวจสอบที่จำเป็นเมื่อมีการยื่นคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบต่อคณะกรรมการและออกคำสั่งให้ความเห็นชอบให้แก่ผู้ลงทุนหากคำขอนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย
    (อี) ภายหลังจากการตรวจสอบ ให้ความเห็นชอบหรือปฏิเสธคำขอขยายหรือแก้ไขระยะเวลาของใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ยื่นโดยผู้ลงทุน
    (เอฟ) ขอให้ผู้ลงทุนยื่นเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการลงทุน หากจำเป็น
    (จี) ดำเนินการต่อผู้ลงทุนตามกฎหมายที่มีอยู่หากปรากฏหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าผู้ลงทุนได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ไม่เหมาะสมต่อคณะกรรมการ หรือในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบ
    (เอช) ตรวจสอบตามที่จำเป็นและอนุญาตให้มีการยกเว้นและการลดหย่อนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้หากเหมาะสม
    (ไอ) โดยความเห็นชอบของรัฐบาล กำหนดประเภทของการลงทุนที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับการยกเว้นและ/หรือการลดหย่อนภาษี
    (เจ) ขอรับความช่วยเหลือและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของคณะกรรมการจากกระทรวง หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามความจำเป็น รวมถึงผู้ลงทุน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามกฎหมายนี้
    (เค) ดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ได้
    (แอล) ตรวจสอบและกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างหรือเตรียมการตามประเภทของการลงทุน
    (เอ็ม) ตรวจสอบและอนุญาตให้มีการยกเว้นและการลดหย่อนที่เกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นการชั่วคราวจากต่างประเทศตามวิธีการนำเข้าชั่วคราวที่กำหนดโดยกรมศุลกากรร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และ
    (เอ็น) เพื่อให้กฎหมายนี้ใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดตั้งและใช้การระบบสำหรับการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น ตรวจสอบข้อพิพาทอย่างเป็นระบบ ระบุสาเหตุของข้อพิพาท ดำเนินการตอบ สอบสวน และไกล่เกลี่ยก่อนการระงับข้อพิพาทเพื่อให้กฎหมายนี้ใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดตั้งและใช้การระบบสำหรับการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เช่น ตรวจสอบข้อพิพาทอย่างเป็นระบบ ระบุสาเหตุของข้อพิพาท ดำเนินการตอบ สอบสวน และไกล่เกลี่ยก่อนการระงับข้อพิพาท
  4. คณะกรรมการอาจกำหนดและเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆ ได้ รวมถึงค่าจดทะเบียน
  5. ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน คณะกรรมการอาจจัดตั้งอนุคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ได้ตามที่จำเป็น
  6. ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน คณะกรรมการอาจเปิดสำนักงานสาขาโดยความเห็นชอบของรัฐบาลได้ตามที่จำเป็น ไม่ว่าตั้งอยู่ภายในประเทศหรือต่างประเทศ

หมวด 7
การเรียกประชุม

  1. ให้มีการประชุมคณะกรรมการดังต่อไปนี้
    (เอ) ให้มีการประชุมสามัญคณะกรรมการอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
    (บี) ให้มีการประชุมวิสามัญคณะกรรมการเมื่อจำเป็น
  2. ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม
  3. การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด รวมถึงประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการด้วย จึงเป็นองค์ประชุม
  4. การวินิจฉัยของคณะกรรมการต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่อยู่ในที่ประชุม กรรมการที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมจะไม่มีสิทธิคัดค้าน ปฏิเสธ หรือแก้ไขการวินิจฉัยของคณะกรรมการ
  5. คณะกรรมการอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมในที่ประชุมคณะกรรมการครั้งใดๆ สำหรับเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ได้
  6. คณะกรรมการอาจเชิญผู้ลงทุนและบุคคลที่สนับสนุนผู้ลงทุนให้เข้าร่วมในที่ประชุมและให้คำอธิบายและร่วมปรึกษาหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการก็ได้
  7. กรรมการต้องยื่นรายงานและแถลงต่อที่ประชุมเกี่ยวกับกิจกรรมของตนในที่ประชุมสามัญคณะกรรมการที่จะมีขึ้นครั้งที่ใกล้ที่สุด และต้องได้รับความเห็นชอบสำหรับกิจกรรมนั้น

หมวด 8
การยื่นคำขอ

  1. ผู้ลงทุนต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการและลงทุนภายหลังจากได้รับใบอนุญาตสำหรับการลงทุนที่ระบุไว้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (เอ) การลงทุนที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของชาติ
    (บี) โครงการการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
    (ซี) โครงการที่อาจมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น
    (ดี) การลงทุนที่ใช้ที่ดินและอาคารของรัฐ
    (อี) การลงทุนอื่นๆ ที่รัฐบาลกำหนดให้ต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ

หมวด 9
การยื่นคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบ

  1. ผู้ลงทุนไม่ต้องยื่นคำขอต่อคณะกรรมการสำหรับการลงทุนใดๆ เว้นแต่การลงทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 36 อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้ลงทุนมีสิทธิใช้ที่ดินตามหมวด 12 และได้รับการยกเว้นและการลดหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือกว่านั้น หรือทั้งหมด ตามข้อ 75 ข้อ 77 และข้อ 78 ผู้ยื่นคำขอต้องยื่นคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบตามแบบที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการ
  2. ในการยื่นคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบ ให้แนบหนังสือให้ความเห็นชอบ หนังสืออนุญาต ใบอนุญาต หรือเอกสารอื่นในทำนองเดียวกันที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ออกให้สำหรับประเภทธุรกิจเดียวกับที่ยื่นคำขอมาพร้อมกันด้วย
  3. หลังจากที่ได้พิจารณาคำขอรับคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ยื่นตามข้อ 37 แล้ว คณะกรรมการอาจรับคำขอนั้นหากเป็นการยื่นที่ถูกต้องครบถ้วน และอนุญาตให้แก้ไขคำขอนั้นแล้วยื่นใหม่หากเป็นการยื่นที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน

หมวด 10
ประเภทการลงทุน

  1. การลงทุนให้รวมถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย
    (เอ) วิสาหกิจ
    (บี) สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สิน เงินสด จำนำ จำนองและสิทธิยึดหน่วง เครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง
    (ซี) หุ้นบริษัท หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นกู้ (เอ) ตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทหนึ่งๆ
    (ดี) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมาย รวมถึงความรู้ความชำนาญ สิทธิบัตร การออกแบบอุตสาหกรรม และเครื่องหมายการค้า
    (อี) สิทธิเรียกร้องเงินและการปฏิบัติตามสัญญาซึ่งมีมูลค่าเป็นตัวเงิน
    (เอฟ) สัญญาแบ่งรายได้ หรือสิทธิในการผลิต การจัดการ การสร้าง การจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ที่มีตามสัญญา
    (จี) สิทธิที่โอนให้แก่กันได้ที่มีอยู่ตามกฎหมายหรือตามสัญญา รวมถึงสิทธิในการค้นหา สำรวจ และสกัดทรัพยากรธรรมชาติ
  2. การลงทุนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นการลงทุนที่ต้องห้าม
    (เอ) การลงทุนที่อาจก่อให้เกิดหรือทำให้มีขยะอันตรายหรือเป็นพิษในสหภาพเมียนมา
    (บี) การลงทุนที่อาจทำให้มีการนำเทคโนโลยี ยา พืช สัตว์ และอุปกรณ์ที่ยังอยู่ในระหว่างการทดลองในต่างประเทศ หรือที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ปลูกหรือเพาะปลูก เว้นแต่การลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนา
    (ซี) การลงทุนที่อาจมีผลต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่นและธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพเมียนมา
    (ดี) การลงทุนที่อาจมีผลกระทบต่อสาธารณชน
    (อี) การลงทุนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและระบบนิเวศน์
    (เอฟ) การลงทุนที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือให้บริการที่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
  3. การลงทุนที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นการลงทุนที่ถูกจำกัด
    (เอ) การลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้กระทำเฉพาะนอกสหภาพเมียนมาเท่านั้น
    (บี) การลงทุนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทำโดยผู้ลงทุนต่างชาติ
    (ซี) การลงทุนที่อนุญาตให้กระทำในรูปกิจการร่วมค้ากับนิติบุคคลที่พลเมืองเป็นเจ้าของหรือพลเมืองเมียนมารายใดๆ และ
    (ดี) การลงทุนที่กระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
  4. คณะกรรมการต้องออกประกาศโดยความเห็นชอบของรัฐบาลเพื่อแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงประเภทการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมและประเภทการลงทุนที่ถูกจำกัดตามข้อ 42
  5. เมื่อได้พิจารณาทบทวนการเปิดเสรีหรือเปลี่ยนแปลงประเภทการลงทุนที่ถูกจำกัดไว้ตามข้อ 42 เป็นระยะๆ หากจำเป็นต้องมีการผ่อนปรน แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกการลงทุนประเภทใดดังกล่าว คณะกรรมการต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลและประกาศให้ทราบถึงการแก้ไขเพิ่มเติมและการกำหนดประเภทการลงทุนดังกล่าว
  6. ในการพิจารณาทบทวนประเภทการลงทุนตามข้อ 44 คณะกรรมการอาจปรึกษาหารือกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน กระทรวง และหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การจัดประเภทการลงทุนไม่ขัดต่อพันธกรณีของรัฐบาลในด้านการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน
  7. สำหรับการลงทุนที่อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย สภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประโยชน์ของสหภาพเมียนมาและพลเมือง คณะกรรมการต้องขอและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาผ่านทางรัฐบาลก่อนออกใบอนุญาตสำหรับการลงทุนนั้นๆ

หมวด 11
การปฏิบัติต่อผู้ลงทุน

  1. ในการปฏิบัติต่อผู้ลงทุน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
    (เอ) รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อผู้ลงทุนต่างชาติและการลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุนต่างชาติโดยเอื้อประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าการปฏิบัติต่อผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมาในเรื่องเกี่ยวกับการขยาย การจัดการ การดำเนินการ และการขายหรือการจำหน่ายโดยประการอื่นซึ่งการลงทุนโดยตรงตามกฎหมายนี้ เว้นแต่กฎหมาย หลักเกณฑ์ และประกาศอื่นใดจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
    (บี) ในพฤติการณ์คล้ายกัน รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อผู้ลงทุนต่างชาติและการลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุนต่างชาติจากประเทศหนึ่งๆ โดยเอื้อประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าการปฏิบัติต่อผู้ลงทุนต่างชาติและการลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุนต่างชาติจากประเทศอื่นในเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้ง การได้มา การขยาย การจัดการ การดำเนินการ และการขายหรือจำหน่ายโดยประการอื่นซึ่งการลงทุนโดยตรง
    (ซี) บทบัญญัติในข้อ (บี) ข้างต้นไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นการกำหนดให้ต้องมีการปฏิบัติ การเอื้อประโยชน์ หรือการให้สิทธิพิเศษซึ่งเป็นผลมาจากเรื่องดังต่อไปนี้แก่ผู้ลงทุนต่างชาติ
    (i) สหภาพศุลกากร เขตการค้าเสรี สหภาพเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากสหภาพศุลกากร เขตการค้าเสรี และสหภาพเศรษฐกิจ และข้อตกลงระหว่างประเทศ
    (ii) การปฏิบัติอันเป็นการเอื้อประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับผู้ลงทุนและการลงทุนของผู้ลงทุนตามข้อตกลงระหว่างประเทศ สนธิสัญญา ข้อตกลง หรือความร่วมมือระดับทวิภาคีหรือระดับภูมิภาคหรือสากลระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค สนธิสัญญา ข้อตกลง หรือความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ หรือความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับภาษี ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
  2. รัฐบาลรับรองว่าจะปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันในเรื่องดังต่อไปนี้
    (เอ) สิทธิในการได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการใดๆ หรือการตัดสินซึ่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ลงทุนและการลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุน
    (บี) สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องและสิทธิในการอุทธรณ์ตามมาตรการเดียวกัน รวมถึงการเปลี่ยนข้อกำหนดและเงื่อนไขตามหนังสืออนุญาต ใบอนุญาต หรือคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ออกให้โดยรัฐบาลแก่ผู้ลงทุนและการลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุน
  3. บทบัญญัติในหมวดนี้ไม่กระทบต่อบทบัญญัติในข้อ 76

หมวด 12
สิทธิในการใช้ที่ดิน

50. (เอ) ผู้ลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบตามกฎหมายนี้มีสิทธิเช่าระยะยาวซึ่งที่ดินหรืออาคารจากเอกชนหรือจากกรมหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดการหรือเป็นของรัฐตามกฎหมาย เพื่อใช้ในการลงทุน ผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมาอาจลงทุนในที่ดินหรืออาคารของตนเองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้
(บี) ผู้ลงทุนต่างชาติอาจเช่าที่ดินหรืออาคารจากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ หรือจากเจ้าของที่ดินหรืออาคารของเอกชน เริ่มตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ระยะแรกเป็นระยะเวลาสูงสุด 50 ปี ตามที่กฎหมายกำหนดก็ได้
(ซี) เมื่อระยะเวลาของสิทธิการใช้ที่ดินหรืออาคาร หรือระยะเวลาของสิทธิในการเช่าที่ดินหรืออาคารตามที่บัญญัติไว้ในข้อ (บี) สิ้นสุดลง คณะกรรมการอาจให้ความเห็นชอบแก่ผู้ลงทุนให้ได้รับสิทธิเช่าที่ดินหรืออาคารดังกล่าวอีก 10 ปี และขยายระยะเวลาต่อไปอีก 10 ปีก็ได้
(ดี) ผู้ลงทุนต้องจดทะเบียนการเช่าที่ดินต่อหน่วยงานที่รับจดทะเบียนเอกสารสำคัญต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียน
(อี) รัฐบาลอาจกำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขในการเช่าและการใช้ที่ดินที่เอื้อประโยชน์เป็นพิเศษสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมาก็ได้
(เอฟ) เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาสหภาพเมียนมาโดยรวม โดยความเห็นชอบของรัฐสภา ตามที่เสนอผ่านทางรัฐบาล คณะกรรมการต้องให้สิทธิการเช่าที่ดินหรืออาคารและสิทธิในการใช้ที่ดินตามกฎหมายนี้เป็นระยะเวลานานกว่าที่กำหนดสำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนในเขตที่พัฒนาน้อยที่สุดและอยู่ห่างไกลความเจริญ

หมวด 13
การจ้างพนักงานและคนงาน

  1. ผู้ลงทุนต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
    (เอ) ผู้ลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบตามกฎหมายนี้มีสิทธิเช่าระยะยาวซึ่งที่ดินหรืออาคารจากเอกชนหรือจากกรมหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดการหรือเป็นของรัฐตามกฎหมาย เพื่อใช้ในการลงทุน ผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมาอาจลงทุนในที่ดินหรืออาคารของตนเองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้
    (บี) ผู้ลงทุนต้องแต่งตั้งพลเมืองที่ผ่านการพัฒนาความสามารถแล้วเพื่อดำรงตำแหน่งแทนในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการจัดการ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการปฏิบัติการ และที่ปรึกษา
    (ซี) สำหรับงานที่ไม่ต้องการความชำนาญ ผู้ลงทุนต้องแต่งตั้งให้พลเมืองเท่านั้นรับผิดชอบงานดังกล่าว
    (ดี) ผู้ลงทุนต้องแต่งตั้งพลเมืองที่มีความชำนาญ และคนงาน ช่างเทคนิค และพนักงานชาวต่างชาติ โดยทำสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านแรงงาน
    (อี) ผู้ลงทุนต้องดำเนินการให้แน่ใจว่าในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ตลอดจนข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ลูกจ้างจะได้รับสิทธิหรือมีสิทธิตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านแรงงาน รวมถึงค่าจ้างและเงินเดือนขั้นต่ำ การลางาน วันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าเสียหาย ค่าชดเชยสำหรับลูกจ้าง ประกันสังคม และประกันอื่นๆ สำหรับลูกจ้าง
    (เอฟ) ผู้ลงทุนต้องระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้าง ระหว่างลูกจ้าง ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ช่างเทคนิค หรือพนักงาน ที่เกี่ยวกับการลงทุนตามกฎหมายที่ใช้บังคับ

หมวด 14
การรับประกันเกี่ยวกับการลงทุน

  1. รัฐบาลรับรองว่าจะไม่เข้าควบคุมการลงทุนใดๆ ที่จัดทำตามกฎหมายนี้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ รัฐบาลรับรองว่าจะไม่ดำเนินมาตรการใดๆ ซึ่งเป็นการเวนคืนการลงทุนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรืออาจส่งผลให้การลงทุนนั้นสิ้นสุดลง
    (เอ) เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน
    (บี) เป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
    (ซี) เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องเหมาะสม
    (ดี) มีการจ่ายค่าตอบแทนทันที อย่างยุติธรรมและเพียงพอ
  2. ค่าชดเชยที่ยุติธรรมและเพียงพอต้องกำหนดเป็นจำนวนที่เทียบเท่ากับมูลค่าตลาดในขณะที่เวนคืนการลงทุน อย่างไรก็ดี การกำหนดค่าชดเชยนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณชนและประโยชน์ของผู้ลงทุนเอกชน ตลอดจนสภาพการลงทุนในปัจจุบันและที่ผ่านมา เหตุในการเวนคืนการลงทุนหรือทรัพย์สินของการลงทุน มูลค่าตลาดที่เป็นธรรมของการลงทุนนั้น วัตถุประสงค์ของการเวนคืนการลงทุนหรือทรัพย์สินของการลงทุน กำไรที่ผู้ลงทุนได้รับตลอดการลงทุน และระยะเวลาของการลงทุน
  3. ในการใช้อำนาจของรัฐบาลเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหรือส่งเสริมประโยชน์ด้านสังคมซึ่งกฎหมาย รวมถึงในหมวด 21 และ 22 ของกฎหมายนี้ กำหนดให้ต้องเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัตินั้นไม่ใช้บังคับกับบทบัญญัติในหมวดนี้
  4. หากผู้ลงทุนกล่าวอ้างว่ามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างที่จัดทำตามข้อ 52 ของกฎหมายนี้ขัดกับบทบัญญัติในข้อดังกล่าวและถือเป็นการเวนคืนโดยทางอ้อม รัฐบาลต้องทำการสอบสวนเป็นรายกรณีไปเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้
    (เอ) มาตรการนั้นเป็นการจงใจก่อให้เกิดผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของการลงทุนหนึ่งๆ หรือไม่
    (บี) มาตรการนั้นฝ่าฝืนพันธกรณีของรัฐบาลที่จัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สัญญา หนังสืออนุญาต หรือเอกสารกฎหมายอื่นๆ ที่ออกให้เพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนรายนั้นหรือไม่
    (ซี) มาตรการของรัฐบาล รวมถึงวัตถุประสงค์ตามข้อ 52 (เอ) สอดคล้องกับประโยชน์ของสาธารณชนหรือไม่
  5. ผู้ลงทุนต่างชาติอาจโอนเงินดังต่อไปนี้ซึ่งเกี่ยวกับการลงทุนที่จัดทำตามกฎหมายนี้ออกไปยังต่างประเทศได้
    (เอ) เงินทุนตามบทบัญญัติเกี่ยวกับบัญชีทุนตามที่ธนาคารกลางแห่งเมียนมากำหนด
    (บี) เงินที่ได้มา กำไรที่ได้จากจากสินทรัพย์ หุ้นกู้ ค่าสิทธิ ค่าสิทธิบัตร ค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาต ค่าธรรมเนียมสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการจัดการ หุ้น และรายได้อื่นที่มีในปัจจุบันซึ่งมีขึ้นจากการลงทุนใดๆ ตามกฎหมายนี้่
    (ซี) เงินที่ได้มาจากการขายหรือการชำระบัญชีชองการลงทุน/ทรัพย์สินจากการลงทุน ในบางส่วนหรือทั้งหมด
    (ดี) เงินที่ชำระตามสัญญา รวมถึงสัญญากู้
    (อี) เงินที่ชำระเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุน
    (เอฟ) ค่าชดเชยหรือเงินค่าชดเชยอื่นๆ จากการลงทุนหรือการเวนคืน
    (จี) ค่าตอบแทน เงินเดือน และเงินของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติที่ได้รับการจ้างตามกฎหมายภายในสหภาพเมียนมา

หมวด 15
การโอนเงิน

  1. การโอนเงินกู้หรือรับเงินกู้ต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารกลางแห่งเมียนมา ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับ
  2. ผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมาอาจโอนเงินต่อไปนี้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามกฎหมายนี้ไปยังต่างประเทศได้โดยอิสระและโดยไม่ชักช้า
    (เอ) ค่าสิทธิ ค่าธรรมเนียมสำหรับการอนุญาต ค่าธรรมเนียมสำหรับการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดการ และดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่หน่วยงานภายนอก
    (บี) เงินที่ชำระตามสัญญา รวมถึงสัญญากู้และการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกัน
    (ซี) เงินที่กำหนดให้ต้องชำระโดยศาล อนุญาโตตุลาการ หรือจากการประนีประนอมยอมความเมื่อเกิดข้อพิพาท รวมถึงข้อตกลงว่าจะชำระโดยผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมา
  3. การโอนเงินใดๆ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ชำระภาษีที่ต้องชำระตามกฎหมายภาษีสำหรับเงินจำนวนที่จะโอนนั้นแล้ว
  4. ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายอาจส่งเงินกลับไปต่างประเทศโดยไม่ต้องหักเงินใดๆ ออกจากเงินจำนวนที่ได้ชำระภาษีที่ต้องชำระตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้อีก โดยส่งผ่านทางธนาคารที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและจัดตั้งขึ้นในสหภาพเมียนมา
  5. ในการโอนเงินโดยผู้ลงทุนต่างชาติตามข้อ 56 เงินนั้น รวมถึงบัญชีทุนหรือบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อาจโอนผ่านธนาคารที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและจัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายในสหภาพเมียนมาโดยใช้สกุลเงินที่ใช้ได้โดยเสรี
  6. รัฐบาลอาจขัดขวางการโอนเงินหรือทำให้การโอนเงินล่าช้าออกไปได้ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    (เอ) การมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือการให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้
    (บี) การกระทำที่เกี่ยวกับอาชญากรรมหรือเป็นความผิดอาญา และการยึดคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด
    (ซี) การรายงานทางการเงินหรือการจัดเก็บข้อมูลการโอนเมื่อมีความจำเป็นต้องกระทำเพื่อให้ความช่วยเหลือในการบังคับคดีหรือแก่หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน
    (ดี) การดำเนินการให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลหรือหน่วยงานทางปกครอง
    (อี) การจัดเก็บภาษีอากร
    (เอฟ) การประกันสังคม การเกษียณราชการ หรือการออมทรัพย์แบบบังคับ
    (จี) สิทธิของลูกจ้างในการได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง
  7. รัฐบาลต้องอนุญาตให้มีการโอนเงินทุนหรือค่าใช้จ่ายและเงินกู้จากต่างประเทศที่ผู้ลงทุนจำเป็นต้องใช้ในการลงทุนในสหภาพเมียนมาตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
  8. ในกรณีที่มีปัญหาในเรื่องดุลการชำระเงินหรือปัญหาด้านเงินกู้อย่างรุนแรง รัฐบาลอาจประกาศใช้หรือกำหนดข้อจำกัดด้านการชำระเงินหรือการโอนเงินที่เกี่ยวกับการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศอื่นๆ

หมวด 16
หน้าที่ของผู้ลงทุน

  1. ผู้ลงทุนต้องดำเนินการต่อไปนี้
    (เอ) เคารพและปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในสหภาพเมียนมา
    (บี) จัดตั้งและจดทะเบียนบริษัท กิจการเจ้าของรายเดียว นิติบุคคล หรือสาขาของนิติบุคคลดังกล่าวขึ้นตามกฎหมายเพื่อดำเนินการลงทุน
    (ซี) ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ระเบียบข้อบังคับตามหนังสืออนุญาตพิเศษ ใบอนุญาต และหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจที่ออกให้แก่ผู้ลงทุน รวมถึงหลักเกณฑ์ ประกาศ คำสั่ง และข้อบังคับ และวิธีการตามกฎหมายนี้และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนข้อกำหนดและเงื่อนไขตามสัญญา และหน้าที่ในการชำระภาษี
    (ดี) ดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของกรมที่เกี่ยวข้อง หากจำเป็นต้องกระทำโดยลักษณะของธุรกิจหรือด้วยความจำเป็นโดยประการอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสืออนุญาตหรือใบอนุญาตจากกระทรวงของสหภาพเมียนมา กรม และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือเพื่อดำเนินการจดทะเบียน
    (อี) แจ้งให้คณะกรรมการทราบทันทีหากพบทรัพยากรแร่ธรรมชาติหรือโบราณวัตถุและ ทรัพย์สมบติที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุนที่ได้รับอนุญาตอยู่บนที่ดินหรือใต้พื้นดินของที่ดินที่ผู้ลงทุนได้รับสิทธิเช่าหรือใช้ และไม่ได้รวมอยู่ในสัญญา หากคณะกรรมการอนุญาต ผู้ลงทุนสามารถดำเนินการลงทุนในที่ดินนั้นต่อไปได้ แต่หากคณะกรรมการไม่อนุญาต ผู้ลงทุนต้องโอนและดำเนินการลงทุนในสถานที่อื่นที่ผู้ลงทุนเลือกและได้รับอนุญาตแล้ว
    (เอฟ) ไม่ทำให้ลักษณะภูมิประเทศเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหรือทำให้พื้นดินของที่ดินที่ผู้ลงทุนมีสิทธิเช่าและยกระดับสูงขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
    (จี) ปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานสากลในการปฏิบัติที่ดีสำหรับการลงทุนของผู้ลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย มลพิษ และความสูญเสียแก่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคม และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อมรดกทางวัฒนธรรม
    (เอช) จัดทำบัญชีและงบการเงิน ตลอดจนข้อมูลด้านการเงินที่จำเป็นที่เกี่ยวกับการลงทุนที่ดำเนินการตามใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับโดยสากลหรือในประเทศ
    (ไอ) หยุดและเลิกการลงทุนต่อเมื่อได้ชำระค่าชดเชยแก่ลูกจ้างแล้วตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับการผิดสัญญาจ้าง การหยุดการลงทุน การขายและโอนการลงทุน การเลิกลงทุน หรือการลดจำนวนพนักงาน
    (เจ) จ่ายค่าจ้างและเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ วิธีการ คำสั่ง และอื่นๆ ตลอดระยะเวลาที่ระงับการลงทุนโดยมีเหตุอันสมควร
    (เค) จ่ายค่าชดเชยและเงินชดใช้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องหรือผู้สืบสิทธิของลูกจ้างรายนั้นสำหรับการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ โรคภัยไข้เจ็บ และความตายที่เกิดจากการทำงาน
    (แอล) ดูแลให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ หัวหน้าชาวต่างชาติ ซึ่งผู้ลงทุนจ้างให้ทำงานเพื่อการลงทุนของตน ตลอดจนครอบครัวของบุคคลดังกล่าว ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีของเมียนมา
    (เอ็ม) เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
    (เอ็น) มีสิทธิยื่นฟ้องและอาจถูกฟ้องตามกฎหมายนี้ได้
    (โอ) จ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดแก่ผู้เสียหาย หากมีความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมจากการตัดไม้หรือสกัดทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่อยู่ในขอบเขตของการลงทุนที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่กิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำเนินการลงทุนตามใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบ
    (พี) อนุญาตให้คณะกรรมการเข้าตรวจสอบสถานที่ใดๆ เมื่อคณะกรรมการได้บอกกล่าวการเข้าตรวจสอบการลงทุนล่วงหน้าแล้ว
    (คิว) ก่อนทำการประเมิน ดำเนินการให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการสำหรับการลงทุนที่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบล่วงหน้าตามกฎหมายรักษาสิ่งแวดล้อมและตามวิธีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยต้องยื่นผลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวต่อคณะกรรมการในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการลงทุน
  2. เมื่อมีการประเมินตามข้อ 65 (คิว) แล้ว คณะกรรมการอาจบริหารการลงทุนนั้นๆ ได้ตามที่จำเป็น รวมถึงอนุญาตให้จัดทำการลงทุนนั้นหรือสั่งให้ระงับการลงทุนไว้ก่อน
  3. ผู้ลงทุนต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 65 ตั้งแต่วันที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้
  4. หากผู้ลงทุนเลิกการลงทุนก่อนระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลง เมื่อได้ชำระภาษีที่ได้รับการยกเว้นและ/หรือลดหย่อนที่ผู้ลงทุนได้รับสิทธิสำหรับการนำเข้าตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ผู้ลงทุนต้องขาย ส่งออก และจำหน่ายบรรดาเครื่องจักร อุปกรณ์ ยานยนต์ และสิ่งของอื่นทั้งหมดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและมีการจัดเก็บภาษีศุลกากร ภาษีอื่นที่จัดเก็บภายในประเทศ และภาษีที่ได้รับการยกเว้นและ/หรือลดหย่อนที่ผู้ลงทุนได้รับสิทธิสำหรับการลงทุนนั้น
  5. เมื่อได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ผู้ลงทุนต้องจัดทำและลงลายมือชื่อในสัญญาที่จำเป็นต้องจัดทำกับกรมที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานของรัฐ และดำเนินการลงทุน
  6. ในการขยายระยะเวลาและแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาตามข้อ 69 ผู้ลงทุนต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
  7. ในการดำเนินการลงทุน ผู้ลงทุนต้องจัดทำการประเมินด้านสุขภาพ การประเมินผลกระทบต่อมรดกทางวัฒนธรรม การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบต่อสังคม ตามประเภทการลงทุน ตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ ระเบียบ และวิธีการที่ใช้บังคับ
  8. ในระหว่างระยะเวลาการลงทุนที่ได้รับอนุญาต ผู้ลงทุนต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบหากมีการเช่าช่วง จำนอง การโอนหุ้น หรือการโอนกิจการเกี่ยวกับการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบ

หมวด 17
ประกันภัย

  1. ผู้ลงทุนต้องทำประกันกับบริษัทประกันใดๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันในสหภาพเมียนมา ในประเภทตามที่กฎระเบียบกำหนด

หมวด 18
การยกเว้นและการลดหย่อน

  1. เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาของสหภาพเมียนมาโดยการอนุญาตให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการให้มีการพัฒนาและเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นสัดส่วนในเขตและรัฐต่างๆ เมื่อผู้ลงทุนยื่นคำขอรับการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี คณะกรรมการต้องตรวจสอบคำขอนั้นและอาจอนุญาตให้มีการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษีนั้น
75. (เอ) สำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้ โซน (1) เป็นเขตการลงทุนที่พัฒนาน้อยที่สุด โซน (2) เป็นเขตการลงทุนที่พัฒนาปานกลาง และโซน (3) เป็นเขตการลงทุนที่พัฒนาแล้ว คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐบาล ต้องออกประกาศและอาจให้การยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน รวมปีที่เริ่มประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในโซน (1) เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน รวมปีที่เริ่มประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในโซน (2) และเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน รวมปีที่เริ่มประกอบกิจการในเชิงพาณิชย์ สำหรับการลงทุนในโซน (3)
(บี) โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล คณะกรรมการอาจเปลี่ยนแปลงการกำหนดเขตการลงทุนได้เป็นเป็นระยะๆ โดยพิจารณาจากระดับการพัฒนาของเขตการลงทุนนั้น
(ซี) การยกเว้นภาษีเงินได้จะให้ได้เฉพาะแก่อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
  1. นอกเหนือจากบทบัญญัติในหมวด 11 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ลงทุนแล้ว รัฐบาลอาจจัดให้เงินสนับสนุน เงินทุน การพัฒนาความสามารถ และการฝึกอบรมให้แก่ผู้ลงทุนที่เป็นพลเมืองเมียนมาและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของพลเมืองก็ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจอนุญาตให้มีการยกเว้นและลดหย่อนให้สำหรับพื้นที่ที่มีการประกอบธุรกิจของพลเมืองเมียนมาหรือดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจอื่นๆ
  2. คณะกรรมการอาจตรวจสอบและอนุญาตให้มีการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรและภาษีอื่นที่จัดเก็บภายในประเทศดังต่อไปนี้ให้แก่ผู้ลงทุนได้หากมีการยื่นคำขอ
    (เอ) การยกเว้นและ/หรือการลดหย่อนภาษีศุลกากรและภาษีอื่นที่จัดเก็บภายในประเทศสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ ส่วนประกอบของเครื่องจักร อะไหล่ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างซึ่งไม่มีจำหน่ายในประเทศ และวัสดุที่ใช้ในธุรกิจ ซึ่งมีการนำเข้าเนื่องจากจำเป็นต้องใช้ ในระหว่างระยะเวลาการก่อสร้างหรือระหว่างการเตรียมการลงทุน
    (บี)

    การยกเว้นและ/หรือการลดหย่อนภาษีศุลกากรและภาษีอื่นที่จัดเก็บภายในประเทศสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ใช้สำหรับการผลิตสินค้าส่งออก ในกิจกรรมการลงทุนที่มุ่งเพื่อการส่งออก (Export-Oriented Investment)

    (ซี)

    การขอคืนภาษีศุลกากรและ/หรือภาษีอื่นที่จัดเก็บภายในประเทศสำหรับวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปนำเข้าที่ใช้ในการผลิตสินค้าส่งออก

    (ดี) หากการลงทุนมีปริมาณสูงขึ้นและมีการขยายการลงทุนจากเดิมในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ การยกเว้นและ/หรือการลดหย่อนภาษีศุลกากรและภาษีอื่นที่จัดเก็บภายในประเทศสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ ส่วนประกอบของเครื่องจักร อะไหล่ และวัสดุที่ใช้ในธุรกิจ และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างซึ่งไม่มีจำหน่ายในประเทศ ซึ่งมีการนำเข้าเนื่องจากจำเป็นต้องใช้ในธุรกิจที่มีการขยายนั้น
  3. คณะกรรมการอาจตรวจสอบและอนุญาตให้มีการยกเว้นและลดหย่อนดังต่อไปนี้ให้แก่ผู้ลงทุนได้หากมีการยื่นคำขอ
    (เอ) การยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษีเงินได้หากมีการนำกำไรที่ได้รับจากการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบไปใช้ลงทุนในการลงทุนนั้นหรือการลงทุนในลักษณะคล้ายกันภายในหนึ่งปี
    (บี) สิทธิในการคิดค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการประเมินภาระภาษีเงินได้นั้น ให้เริ่มจากปีที่เริ่มดำเนินกิจการในเชิงพาณิชย์ โดยใช้อัตราค่าเสื่อมโดยอ้างอิงอายุการใช้งานที่น้อยกว่าอายุการใช้งานที่กำหนดไว้สำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ อาคาร หรือสินทรัพย์ที่เป็นทุนซึ่งใช้ในการลงทุน
    (ซี) สิทธิในการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการลงทุนที่จัดทำขึ้นในสหภาพเมียนมาและจำเป็นต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพเมียนมา ออกจากรายได้ที่นำมาประเมินภาระภาษี
  4. ผู้ลงทุนต่างชาติต้องชำระภาษีเงินได้ในอัตราเดียวกับพลเมืองที่อาศัยอยู่ในสหภาพเมียนมา
  5. เว้นแต่การยกเว้นและการลดหย่อนตามข้อ 75 ข้อ 77 และข้อ 78 ภาษีต่างๆ ให้จัดเก็บตามกฎหมายภาษีที่เกี่ยวข้อง
  6. การยกเว้นและการลดหย่อนตามข้อ 75 ข้อ 77 ข้อ 78 และข้อ 80 ไม่ใช้กับธุรกิจที่ประกอบกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

หมวด 19
การระงับข้อพิพาท

  1. เพื่อให้กฎหมายนี้สามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการต้องกำหนดและใช้กลไกการร้องเรียนเพื่อระงับและป้องกันการเกิดข้อพิพาท ตลอดจนดำเนินการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการลงทุนก่อนดำเนินคดีตามกฎหมาย
  2. ก่อนนำข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับสหภาพเมียนมาหรือระหว่างผู้ลงทุนด้วยกันเสนอต่อศาลหรืออนุญาโตตุลาการ คู่ความทุกฝ่ายต้องใช้ความพยายามโดยสุจริตที่จะยุติข้อพิพาทนั้นอย่างฉันมิตร
  3. ในกรณีที่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนใดๆ ไม่สามารถยุติได้อย่างฉันมิตร
    (เอ) หากสัญญาที่เกี่ยวข้องไม่ได้กำหนดให้ใช้กลไกการระงับข้อพิพาทนั้น ให้ศาลที่มีเขตอำนาจหรืออนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
    (บี) หากสัญญาที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดให้ใช้กลไกการระงับข้อพิพาทนั้น ให้ปฏิบัติและดำเนินการตามกลไกนั้น

หมวด 20
โทษทางปกครอง

  1. ให้คณะกรรมการดำเนินการดังต่อไปนี้
    (เอ) คณะกรรมการอาจกำหนดโทษทางปกครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างต่อไปนี้แก่ผู้ลงทุนที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายนี้ ตลอดจนหลักเกณฑ์ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ข้อบังคับ วิธีการ หรือข้อกำหนดและเงื่อนไขในใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบที่ออกโดยคณะกรรมการ
    (i) ตักเตือน
    (ii) ระงับการประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว
    (iii) ระงับการได้รับการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษีเป็นการชั่วคราว
    (iv) เพิกถอนใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบ
    (v) จัดให้ธุรกิจนั้นอยู่ในบัญชีซึ่งต้องห้ามไม่ให้ได้รับใบอนุญาตหรือคำสั่งให้ความเห็นชอบใดๆ อีกในอนาคต
    (บี) คณะกรรมการต้องแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่าจะมีการกำหนดโทษทางปกครองตามข้อ (เอ) ข้างต้นแก่ผู้ลงทุนก่อนที่จะกำหนดโทษนั้น และผู้ลงทุนมีสิทธิทำหนังสือซักถามเกี่ยวกับโทษทางปกครองดังกล่าว
    (ซี) ในการแจ้งคำตัดสินลงโทษทางปกครองตามข้อ (เอ) ข้างต้น คณะกรรมการต้องชี้แจงเหตุผลในการกำหนดโทษทางปกครองนั้นไปพร้อมกันด้วย
86. (เอ) ผู้ลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะกรรมการตามข้อ 85 อาจอุทธรณ์ต่อรัฐบาลได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ของคำตัดสินนั้นตามที่กฎหมายกำหนด
 
(บี) รัฐบาลอาจกลับ เพิกถอน หรือยืนตามคำตัดสินของคณะกรรมการ
 
(ซี) คำตัดสินของรัฐบาลนั้นถือเป็นที่สุดและเป็นที่ยุติ
  1. ผู้ลงทุนต้องถูกดำเนินคดีหากมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าผู้ลงทุนนั้นให้ข้อมูลโดยไม่สุจริต เป็นเท็จ หรือมีการปกปิดข้อมูลเมื่อยื่นคำขอ บัญชี พยานหลักฐานประกอบสัญญา ข้อมูลทางการเงิน หรือหลักฐานการจ้างงาน เป็นต้น ต่อคณะกรรมการ หรือกรมหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. หากผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ รวมถึงดำเนินการลงทุนที่ต้องห้ามตามข้อ 41 ผู้ลงทุนรายนั้นต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ และกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับ หากกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น

หมวด 21
ข้อยกเว้น

  1. กฎหมายนี้ไม่มีข้อความใดที่สามารถตีความได้ว่าเป็นการห้ามไม่ให้รัฐบาลประกาศใช้หรือกำหนดมาตรการต่อไปนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
    (เอ) มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องรักษาศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
    (บี) มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช
    (ซี) การคุ้มครองผู้ลงทุน ผู้ฝาก บุคคลหรือหน่วยงานในตลาดการเงิน ผู้ถือกรมธรรม์ ผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ หรือบุคคลซึ่งให้ความไว้วางใจแก่สถาบันการเงินให้ทำหน้าที่แทนตน
    (ดี) มาตรการดูแลให้สถาบันการเงินมีความปลอดภัย มีความมั่นคงดำรงอยู่ได้ น่าเชื่อถือ และมีเสถียรภาพ
    (อี) มาตรการดูแลให้ระบบการเงินของสหภาพเมียนมามีความยืนหยัดในหลักการและมีเสถียรภาพ
    (เอฟ) มาตรการที่มีความมุ่งหมายเพื่อดูแลให้การประเมินภาระภาษีหรือการเรียกเก็บภาษีทางตรงจากผู้ลงทุนมีความยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ
    (จี) มาตรการคุ้มครองสมบัติและมรดกของชาติซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี
    (เอช) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องไม่ให้การผลิตหรืออุปโภคบริโภคภายในประเทศสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ

หมวด 22
ข้อยกเว้นเพื่อความมั่นคง

90. (เอ) กฎหมายนี้ไม่มีข้อความใดที่สามารถตีความได้ว่าเป็นการห้ามไม่ให้รัฐบาลประกาศใช้หรือบังคับใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องประโยชน์ด้านความมั่นคงที่สำคัญ
(บี) บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ไม่เป็นการห้ามไม่ให้รัฐบาลดำเนินการต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการปกป้องประโยชน์ด้านความมั่นคงที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการกระทำดังต่อไปนี้
i. การกระทำที่เกี่ยวกับการซื้อขายอาวุธยุทโธปรณ์ ตลอดจนสินค้าและวัสดุอื่นซึ่งจัดให้แก่กองทัพหรือหน่วยงานเพื่อความมั่นคงอื่นๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ii. การกระทำที่จำเป็นในภาวะสงครามหรือเหตุฉุกเฉินอื่นในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หมวด 23
เบ็ดเตล็ด

  1. หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ขัดต่อสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศซึ่งสหภาพเมียนมาเป็นภาคี ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศสำหรับส่วนที่มีความขัดแย้งกันนั้น
  2. ในระหว่างระยะเวลาหลังจากประกาศใช้กฎหมายนี้และก่อนจะประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่จำเป็น ให้หลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยต่างชาติ (กฎหมายรัฐบัญญัติฉบับที่ 21/2012) มีผลบังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายนี้
  3. ให้ใบอนุญาตให้ลงทุนที่คณะกรรมการออกให้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยต่างชาติแห่งสหภาพเมียนมา (กฎหมายแห่งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐฉบับที่ 10/1988) หรือกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยต่างชาติ (กฎหมายรัฐบัญญัติฉบับที่ 21/2012) หรือกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยพลเมืองเมียนมา (กฎหมายรัฐบัญญัติฉบับที่ 18/2013) มีผลบังคับต่อไปจนกว่าระยะเวลาที่อนุญาตจะสิ้นสุดลง
  4. โดยไม่คำนึงถึงบทบัญญัติในกฎหมายอื่นใด เรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายนี้
  5. หากมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่ากรรมการรายใดๆ ในคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา กรรมการรายใดๆ ในคณะกรรมการหรือหน่วยงานใดๆ หรือข้าราชการรายใดๆ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตตามอำนาจที่ตนมีตามกฎหมายนี้ บุคคลดังกล่าวจะไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ว่าในทางแพ่งหรือทางอาญา
  6. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ กรรมการรายใดๆ ในคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการต้องดำเนินการอย่างเป็นกลางตามกฎหมายต่อต้านการทุจริต
  7. กรรมการในคณะกรรมการต้องไม่ใช้ข้อมูลที่ตนได้มาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดนอกจากเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้
  8. การตัดสินใดๆ ของคณะกรรมการตามอำนาจที่ให้ไว้โดยกฎหมายนี้ถือเป็นที่สุดและเป็นที่ยุติ เว้นแต่ในเรื่องการกำหนดโทษทางปกครองตามข้อ 85 ซึ่งอาจอุทธรณ์ได้
  9. ในการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ กระทรวงการวางแผนและการเงินต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
    (เอ) ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานของคณะกรรมการ
    (บี) รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการตามกฎและระเบียบข้อบังคับด้านการเงิน
  10. ในการดำเนินการตามกฎหมายนี้
    (เอ) กระทรวง โดยความเห็นชอบของรัฐบาล อาจออกหลักเกณฑ์ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ คำสั่ง และวิธีการต่างๆ ตามที่จำเป็น
    (บี) คณะกรรมการมีอำนาจในการออกคำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับ และวิธีการ
  11. ให้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยต่างชาติ (กฎหมายรัฐบัญญัติฉบับที่ 21/2012) และกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยพลเมืองเมียนมา (กฎหมายรัฐบัญญัติฉบับที่ 18/2013) และใช้กฎหมายนี้แทน อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายว่าด้วยการลงทุนโดยต่างชาติจะถูกยกเลิกไป คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมาที่จัดตั้งโดยกฎหมายดังกล่าวจะยังคงมีอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนถึงวันที่คณะกรรมการได้รับมอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนี้


ข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ถิ่น จอ (ลงลายมือชื่อด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)

ประธานาธิบดี
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 Myanmar Investment Commission ได้ออกคำสั่ง 2 ฉบับ กำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนี้

1. คำสั่งหมายเลข 1/2013
กำหนดรายละเอียดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติดำเนินการในเมียนมาร์ หรือให้ดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด สรุปได้ดังนี้

สาขาที่ห้ามต่างชาติดำเนินการ 21 สาขา
ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของประชาชน รวมถึงสาขาที่เป็นผลประโยชน์หลักของชาติ เช่น การสำรวจทดสอบและผลิตอัญมณี การทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ทางเดินเรือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิตโลหะ การแจกจ่ายและขายกระแสไฟฟ้า และสื่อสิ่งพิมพ์ในภาษาเมียนมาร์ เป็นต้น

สาขาที่ต่างชาติต้องดำเนินกิจการร่วมกับบริษัทชาวเมียนมาร์
ในรูปแบบ joint venture รวม 42 สาขา อาทิ การผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผสม อาหารที่มีส่วนประกอบของธัญพืช อาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม น้ำแข็ง น้ำดื่ม พลาสติก รองเท้า กระเป๋าที่ทำจากหนังแท้ กระดาษผลิตภัณฑ์เคมีจากธรรมชาติ สารไวไฟ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (สะพาน ถนน สะพานลอย ทางใต้ดิน) สนามกอล์ฟ / รีสอร์ทมาตรฐานสากล อสังหาริมทรัพย์ การบริการขนส่งทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ และการท่องเที่ยว เป็นต้น

สาขาที่อนุญาตให้ต่างชาติดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อาทิ

  1. ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าว
  2. กำหนดให้ต้องร่วมทุนกับรัฐบาลเท่านั้น อาทิ บริการเดินเรือทะเลของต่างชาติ การขนส่งทางเรือในประเทศ เหมืองถ่านหิน การก่อสร้างอาคารและบริการที่เกี่ยวข้อง กิจการที่เกี่ยวกับแร่หายาก แร่ยุทธศาสตร์ และอัญมณี
  3. กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสากล เช่น มาตรฐาน ASEAN MRA (การออกแบบก่อสร้างอาคาร โรงงาน การผลิตวัสดุก่อสร้างแบบ pre-fabrication) มาตรฐาน GAHP GMP HACCP ในกิจการด้านปศุสัตว์ ยา
  4. กำหนดให้ต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (PES EIA SIA) ในกิจการเหมืองแร่ การสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้างขนาดใหญ่ การผลิตรถยนต์/ต่อเรือ เคมี กระดาษ ซีเมนต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไฟฟ้า ฯลฯ
  5. กำหนดให้ทำในรูป Build Operate Transfer (BOT) เท่านั้น อาทิ การก่อสร้างอาคารพาณิชย์/สำนักงานให้เช่าขนาดใหญ่ที่ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทั้งหมด และการผลิตและขายพลังงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้ำและถ่านหิน
  6. กำหนดสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศที่ต้องใช้ เช่น การผลิตน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องดื่ม บุหรี่ น้ำหอม เครื่องสำอางค์
  7. กำหนดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติและชาวเมียนมาร์ อาทิ กิจการป่าไม้ ให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 25-45 การผลิตวารสาร/นิตยสารเฉพาะทางที่เป็นภาษาต่างประเทศ ชาวเมียนมาร์ต้องถือหุ้นร้อยละ 51และ 2 ใน 3 ของพนักงานต้องเป็นชาวเมียนมาร์ กิจการสปา ต่างชาติสามารถถือครองกิจการได้ร้อยละ 100 เฉพาะในการดำเนินกิจการโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป และกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ ชาวเมียนมาร์ต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40
  8. กำหนดระยะเวลาอนุญาตการประกอบการ เช่น การทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่อนุญาต 15 ปี ต่ออายุได้ 4 ครั้งๆ ละ 5ปี การเลี้ยงหอยมุกอนุญาต 15 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้งๆ ละ 5 ปี
  9. กำหนดช่วงเวลาให้เริ่มดำเนินการ เช่น กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่จะเริ่มดำเนินการได้ภายหลังปี 2558 เท่านั้น (นอกเหนือจากเงื่อนไขการร่วมทุนกับชาวเมียนมาร์)

2. คำสั่งหมายเลข 11/2013
เรียกว่า Foreign Investment Rules กำหนดรายละเอียดขั้นตอนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

กำหนดให้คณะกรรมการ Myanmar Investment Commission (MIC) มีหน้าที่กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ FIL ตามประเภทของกิจการโดยระบุว่ากิจการใดเป็นประเภทต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติ (prohibited) ประเภทจำกัด (restricted) ซึ่งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือต้องดำเนินการในลักษณะร่วมทุน (JV) รวมทั้งมีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแจ้งประกาศให้ทราบเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการกำหนดเขตพื้นที่การผลิต และพิจารณาข้อเสนอโครงการในกิจการต้องห้ามหรือจำกัดสำหรับชาวต่างชาติ และอนุมัติการออกใบอนุญาตประกอบการอีกด้วย

กำหนดรูปแบบการลงทุน 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. ต่างชาติลงทุนร้อยละ 100
  2. จัดตั้ง joint venture กับเอกชนเมียนมาร์
  3. การร่วมลงทุนในรูปแบบ Build, Operate, Transfer (BOT) กำหนดรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการ MIC ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของกรรมการคนละ 3 ปี และประชุมเดือนละ 2 ครั้ง

กำหนดขั้นตอนการพิจารณาโครงการ ตั้งแต่การเสนอโครงการเอกสารประกอบ ช่องการเสนอ (ผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือ MIC โดยตรง) โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ประชุม Proposal Review Group ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตรวจสอบข้อเสนอโครงการเบื้องต้น โดยผู้เสนอโครงการเข้าร่วมในการพิจารณาด้วย หากเห็นชอบก็นำเสนอต่อ MIC พิจารณาต่อไป
  2. MIC ขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดระยะเวลาตอบรับที่แน่นอน แล้วเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในโอกาสแรก หากได้รับอนุญาตจะออกใบอนุญาตภายใน 90 วัน
  3. ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องไปดำเนินโครงการก่อสร้างและเริ่มการผลิตตามระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ คำสั่งฉบับนี้ยังกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขในการกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง การขยายเวลา การให้เช่าช่วง/จำนองที่ดิน/อาคารที่ได้รับอนุมัติการลงทุน การขายหุ้นแก่ชาวต่างชาติหรือชาวเมียนมาร์ การทำประกันภัย การจ้างพนักงาน การขอรับการยกเว้นต่างๆ อาทิ ภาษี การนำเงินทุนเข้า-ออกประเทศ การโอนเงินตราต่างประเทศ บทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และการแก้ไขข้อพิพาทอีกด้วย


3. กฎระเบียบ/นโยบายด้านธนาคาร
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 เมียนมาร์ได้ออกกฎหมายธนาคารกลาง มีสาระสำคัญ คือ ให้ธนาคารกลางเมียนมาร์เป็นองค์กรอิสระ (เดิมอยู่ภายใต้ ก. การคลังเมียนมาร์) โดย ปธน. เมียนมาร์จะเป็นผู้เสนอชื่อ ผู้ว่าการ และสมาชิก Board of Directors ให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งมีการกำหนดอำนาจหน้าที่และวาระการดำรงตำแหน่ง สาระสำคัญอื่นๆ อาทิ

  1. ให้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ บริหารจัดการตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยน เงินสำรองระหว่างประเทศ ระบบการชำระเงินและบัญชี และการพิมพ์ธนบัตร
  2. รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นเพียงผู้เดียว โดยมีเงินทุน 300,000 ล้านจั๊ต ซึ่งรัฐบาลจะให้เงินทุนตั้งต้น 100,000 ล้านจั๊ต หากประสงค์จะเพิ่มเงินทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล
  3. กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย รายได้และกำไร/ขาดทุนประจำปี
  4. ให้ตั้งบัญชีกองทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำ ในกรณีที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศและทองคำไม่เพียงพอ ธนาคารกลางเมียนมาร์จะต้องดำเนินมาตรการแก้ไขและรายงานให้แก่รัฐบาลทราบอย่างน้อยทุก 3 เดือน จนกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม
  5. ให้ธนาคารกลางมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อรัฐบาลในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน

4. การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติดำเนินธุรกรรมในเมียนมาร์
กระบวนการพิจารณาคัดเลือกธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกรรมในเมียนมาร์ได้เริ่มขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2557 โดยธนาคารกลางเมียนมาร์ได้ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับธนาคารต่างชาติในเมียนมาร์โดยตรงในลักษณะ confidential เพื่อเชิญชวนให้ยื่นเอกสารแสดงความสนใจ (Expression of Interest – EOI) และข้อมูลพื้นฐานด้านการเงินเพื่อรับการพิจารณาคัดเลือกให้ประกอบธุรกรรมในเมียนมาร์ ทั้งนี้ ธนาคารต่างๆ ได้รับเชิญได้ยื่น EOI ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 (ทราบข้อมูลล่าสุดว่า มีธนาคารที่ไม่ได้มีสำนักงานผู้แทนในเมียนมาร์ 7 แห่งได้รับเชิญด้วย รวมทั้งหมดเป็น 42 แห่ง) ซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 4 แห่ง ธนาคารที่ยื่น EOI และผ่านการพิจารณาความเข้มแข็งทางการเงินเบื้องต้น จะได้รับคำขอข้อเสนอ (Request for Proposal – RFP) จากธนาคารกลางเมียนมาร์ และต้องยื่นข้อเสนอให้ธนาคารกลางฯ ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน กรกฎาคม 2557 ซึ่งธนาคารกลาง/ รบ. เมียนมาร์ จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวโดยให้ความสำคัญกับปัจจัยความพร้อม/ศักยภาพของธนาคารที่สามารถเข้ามาดำเนินธุรกรรมเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของเมียนมาร์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ธนาคารกลางเมียนมาร์ ได้ออกประกาศระบุว่า มีธนาคารต่างชาติ 9 แห่ง (จาก 6 ประเทศ) ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินธุรกรรมในเมียนมาร์ ได้แก่

  1. ธ.กรุงเทพ (ไทย)
  2. ANZ (ออสเตรเลีย)
  3. ICBC (จีน)
  4. Mizuho bank (ญี่ปุ่น)
  5. Bank of Tokyo – Mitsubishi UFJ (ญี่ปุ่น)
  6. Sumitomo Mitsui Banking Cooperation (ญี่ปุ่น)
  7. Maybank (มาเลเซีย)
  8. OCBC (สิงคโปร์)
  9. UOB (สิงคโปร์)

5. การออกกฎหมาย Securities Exchange Law
เดิมเมียนมาร์มีแผนที่จะจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ในปี 2558 แต่ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของกลไกในการระดมทุนให้กับภาคเอกชนเมียนมาร์ รัฐบาลจึงวางเป้าหมายที่จะจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ให้เร็วที่สุด (หากเป็นไปได้ภายในปี 2557) โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2556 ได้ออกกฎหมาย Securities Exchange Bill และรัฐบาลได้เดินหน้าเพื่อจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยได้รับความช่วยเหลือทางจาก Tokyo Stock Exchange, Daiwa Reseach Institueและภาคเอกชนญี่ปุ่น อาทิ โตชิบา ในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมของตลาดหลักทรัพย์ เช่น modular data system เป็นต้น


6. กฎหมายด้านแรงงาน
เมียนมาร์ได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ และ ILO ในการปฏิรูปกฎระเบียบด้านแรงงานให้เป็นสากล โดยเมื่อปี 2555 ได้ออกกฎหมาย Labour Organiztion Law มีผลบังคับใช้เมื่อ มีนาคม 2555 และ the Settlement of Labour Disputes Law ในปี 2556 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการออกกฎหมายด้านแรงงานอื่นๆ อีก อาทิ

6.1 กฎหมายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ (Minimum Wage Law)
มีผลบังคับใช้เมื่อ 4 กรกฏาคม 2556 แต่ยังมิได้มีการออกกฎหมายอนุวัติการ สรุปสาระดังนี้

  1. สำนัก ปธน. เป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้ประกอบการ และลูกจ้าง เพื่อหารือกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เหมาะสมในแต่ละสาขาธุรกิจ (รวมถึงที่ดำเนินกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ) โดยคำนึงถึงปัจจัยที่จำเป็นต่างๆ อาทิ ค่าครองชีพ มาตรฐานคุณภาพชีวิต ฯลฯ
  2. ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบและจ่ายค่าจ้างในอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่คณะกรรมการฯ กำหนด โดยค่าจ้างแรงงานดังกล่าวจะไม่ครอบคลุมถึงค่าเดินทาง บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยกรณีที่ถูกปลดออกจากงาน
  3. หากผู้ประกอบการมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีโทษปรับสูงสุด 300,000 จั๊ต และโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน

6.2 กฎหมายประกันสังคม (2556)
เมียนมาร์ได้ยกร่างกฎหมายนี้โดยใช้กฎหมายของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยเป็นแม่แบบ แต่ยังมิได้ออกกฎหมายอนุวัติการ ทั้งนี้ ILO ประจำเมียนมาร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายนี้มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่นๆ นอกเหนือจาก ก. แรงงาน การจ้างงานและสวัสดิการสังคมเมียนมาร์ อาทิ ก. คลังเมียนมาร์ โดยเฉพาะประเด็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับนโยบายด้านการประกันสังคม อีกทั้งระบบโครงสร้างทางสังคมของเมียนมาร์ที่ยังต่างจากไทย ดังนั้น จำเป็นต้องมีการหารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการอนุวัติกฎหมายฉบับนี้ให้มีผลใช้ดำเนินการได้จริงต่อไป

6.3 กฎหมาย Employment and Skills Development Bill
ได้รับความร่วมมือจาก ILO ในการร่างกฎหมาย มีผลบังคับใช้วันที่ 30 พฤษจิกายน 2556 โดยกำหนดว่า นายจ้างที่มีลูกจ้างต้องทำสัญญาจ้างงานเป็นหนังสือภายใน 30 วัน นอกจากกรณีจ้างงานถาวรของหน่วยงานหรือองค์กรรัฐบาล หรือกรณีฝึกงานก่อนรับเข้างาน กรณีทดลองงาน หรือการจ้างงานก่อนที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการส่งสำเนาสัญญาจ้างงานให้แก่หน่วยราชการ และกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ฝึกหัดพัฒนาแรงงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน


7. กฎมายคุ้มครองผู้บริโภค (consumer protection law)
รัฐสภาเมียนมาร์ได้ผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และ ปธน. เมียนมาร์ได้ลงนามกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2557 ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฯ ได้แก่ การกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการผลิต/จำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพครบถ้วน ไม่โฆษณาเกินจริง หลอกหลวง เป็นเท็จ เพื่อเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง/ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และเป็นการปกป้องดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม นอกจากนี้ กฎหมายฯ ระบุให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการกลางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย รมว. ก. พาณิชย์ดำรงตำแหน่งประธาน และกรรมาธิการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และ NGOs โดยคณะกรรมาธิการฯ มีหน้าที่หลักในการสอดส่องดูแลเพื่อป้องการกระทำผิด ตรวจสอบข้อกล่าวหา และระงับข้อพิพาท ทั้งนี้ กฎหมายฯ ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 ล้านจั๊ต (150,000 บาท โดยประมาณ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้าที่มีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชนเพื่อแสวงหากำไร และก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อบุคคลและส่วนรวม


8. กฎหมายด้านภาษี (Tax law)
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายด้านภาษีฉบับใหม่ วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฯ คือ การปรับอัตราภาษีบางประเภทให้ทันสมัย ชัดเจน และมีความเหมาะสม ส่งผลให้มีการปรับอัตราภาษี ที่สำคัญ อาทิ ภาษีการค้า (commercial tax) สำหรับ

  1. อัญมณี ปรับลดจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 15
  2. ผลิตภัณฑ์ไม้เนื้อแข็งแปรรูป ปรับลดจากร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 25 และ
  3. การซื้ออสังหาริมทรัพย์ครั้งแรก (first-time buyer) ปรับเป็นร้อยละ 3-5, 10, 20 และ 30 สำหรับอสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 50, 150, 200 และ 300 ล้านจั๊ตตามลำดับ จากอัตราในปัจจุบันที่กำหนดให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จ่ายภาษีในอัตราคงที่ร้อยละ 37 ขณะที่ผู้ขายต้องจ่ายภาษีในอัตราร้อยละ 30 เท่าเดิม นอกจากนี้ กฎหมายด้านภาษีฉบับใหม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและอัตราภาษีเงินได้ (income tax) ให้ทันสมัยขึ้นเช่นกัน


9. กฎหมายการจัดตั้งบริษัท (Myanmar Companies Act )
ค.ศ. 1914 ในปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบริษัทในเมียนมาร์ ได้แก่ Myanmar Companies Act (ค.ศ. 1914) Myanmar Companies Rules (ค.ศ. 1914) และ Myanmar Companies Regulations (ค.ศ. 1957) ซึ่งระบุเกี่ยวกับรูปแบบบริษัทจดทะเบียนในเมียนมาร์ ทั้งนี้ ล่าสุดเมียนมาร์อยู่ระหว่างการปรับปรุง Myanmar Companies Act ให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ ฉบับปี 2555


10. กฎหมายด้านธุรกรรมทางการเงิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศของเมียนมาร์ ได้แก่ Foreign Exchange Management Law (ค.ศ. 2012) ซึ่งระบุเกี่ยวกับการโอนรายได้ ดอกเบี้ยอันเกิดจากการกู้ยืมเพื่อมาลงทุนในเมียนมาร์ และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศไว้ด้วย ทั้งนี้ ในประเด็นการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติควรศึกษากฎหมายฉบับนี้ควบคู่กับกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ 2555


11. กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone Law)
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 เมียนมาร์ได้ออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบและกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุน สิทธิพิเศษของนักลงทุน การใช้ที่ดิน ประเด็นด้านธุรกรรมด้านการเงินและด้านแรงงาน

ต่อมาเมื่อ มกราคม 2557 เมียนมาร์ได้ปรับปรุงและร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับใหม่ ซึ่งเป็นกฎหมายเขตเศรษฐกิจฉบับเดียวที่ครอบคลุมการกำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งในเมียนมาร์ ได้แก่ Kyaukphyu Thilawa และ Dawei
รายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายฯ ฉบับใหม่สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้จากที่นี่


12. การขออนุญาตการลงทุน
นักลงทุนสามารถยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตดำเนินธุรกิจและการลงทุนในเมียนมาร์ที่ Myanmar Investment Commission (MIC) และ Directorate of Investment and Company Administration (DICA) โดยจะต้องกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มต่างๆ ซึ่งสามารถสืบค้นตัวอย่างเอกสารได้ที่ http://www.dica.gov.mm ข้อมูลต่างๆ ที่ต้องจัดเตรียมเพื่อยื่นขอใบอนุญาตการดำเนินกิจการ อาทิ ชื่อที่อยู่ของบริษัท รูปแบบธุรกิจ หุ้นส่วนเมียนมาร์ (กรณี joint venture) สัญญาการเป็นหุ้นส่วน (กรณี joint venture) รายละเอียดการประชุมประจำปี บัญชีธนาคาร หนังสือแจ้งการแบ่งสรรหุ้น ทั้งนี้ หากเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการลงทุนที่ดำเนินร่วมกับกิจการของรัฐ (State Owned Enterprise) นักลงทุนจะต้องยื่นเรื่องขอใบอนุญาตประกอบการผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้องของเมียนมาร์ด้วย นอกจากนี้ ในบางสาขาการประกอบการ นักลงทุนอาจจะต้องจัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อประกอบการพิจาณาด้วย

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาการขอใบอนุญาตประกอบการ ตั้งแต่การเสนอโครงการลงทุน การเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการยื่นเรื่องขออนุญาต หน่วยราชการเมียนมาร์มีขั้นตอนการพิจารณาดังนี้

  1. การประชุม Proposal Review Group ประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ จะประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบข้อเสนอโครงการเบื้องต้น โดยผู้เสนอโครงการลงทุนจะต้องเข้าร่วม ในการพิจารณาด้วย หากที่ประชุมเห็นชอบ ก็จะนำเสนอต่อ MIC เพื่อพิจารณาต่อไป
  2. MIC ขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะกำหนดระยะเวลาพิจารณาให้ข้อคิดเห็นที่แน่นอน แล้วเสนอเข้าที่ประชุมของ MIC หากได้รับอนุญาต จะออกใบอนุญาตให้ดำเนินการภายใน 90 วัน
  3. ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินโครงการและเริ่มการผลิตตามระยะเวลาที่กำหนด

นักลงทุนสามารถเลือกที่จะจดทะเบียนบริษัทภายใต้

  1. กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ
  2. กฎหมายการจัดตั้งบริษัทเมียนมาร์ ในกรณีแรกนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายดังกล่าวระบุ ส่วนกรณีที่สองมิได้ระบุสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติไว้ นอกจากนี้ กฎหมายสองฉบับได้ระบุเงินลงทุนขั้นต่ำไว้แตกต่างกัน อาทิ กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศระบุเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับสาขาการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และสาขาบริการไว้ที่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐและ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ส่วนกฎหมายการจัดตั้งบริษัทเมียนมาร์ได้ระบุเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับสาขาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและสาขาบริการไว้ที่ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าปลีกค้าส่งทางเมียนมาร์ยังไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ ไม่สามารถเปิดบริษัทเองได้ หรือแม้กระทั่งเข้าไปลักษณะร่วมทุนเพียง 1 หุ้นก็ไม่สามารถทำได้ ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการให้ใบอนุญาต (License) กับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเปิดเป็นสาขา เช่น ร้านอาหาร เป็นต้น

การเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์นั้นวิธีการที่เร็วและง่ายที่สุดคือการทำ Mergers and Acquisitions (M&A) ด้วยการหาคู่ค้าท้องถิ่นที่มีความพร้อมด้านที่ดิน โรงงาน อาคาร หรือเครื่องจักร แต่การเข้าไปถือหุ้นเลยตอนนี้ยังทำไม่ได้ ฉะนั้น ต้องใช้วิธีตั้งบริษัทใหม่แล้วมาร่วมทุนด้วยกันแล้วก็ไปขอส่งเสริมการลงทุน และย้ายทรัพย์สินจากที่เดิมมายังบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นต้น

ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจาก MIC จะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตทำการค้า (permit to trade) และการยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในเมียนมาร์สามารถทำได้โดยการยื่นเรื่องที่สำนักงานจดทะเบียนบริษัท (Company Registrations Office: CRO) กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและวางแผนแห่งชาติ (Ministry of National Planning and Economic Development) โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ขอใบอนุญาตทำการค้า บริษัทจำกัดที่จะสามารถประกอบกิจการในเมียนมาร์ได้ ต้องได้รับใบอนุญาตทำการค้า (Permit to Trade) จากสำนักงานจดทะเบียนบริษัท (Company Registration Office: CRO) กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและวางแผนแห่งชาติ ก่อนที่จะสามารถยื่นจดทะเบียนบริษัท โดยจะต้องต่ออายุใบอนุญาตทุก 3 ปี
  2. การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่ CRO เมื่อนักลงทุนได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้วจะสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ที่ CRO
  3. CRO พิจารณาการสมัคร หลังจากที่ผู้ประกอบการยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว นายทะเบียน สำนักงานจดทะเบียนบริษัท กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและวางแผนแห่งชาติ จะเป็นผู้พิจารณาการสมัคร และดำเนินการจดทะเบียน
  4. CRO ออกใบสำคัญการจดทะเบียนให้แก่บริษัท เมื่อนายทะเบียนพิจารณาและดำเนินการจดทะเบียนแล้ว สำนักงานจดทะเบียนบริษัทจะออกใบสำคัญการจดทะเบียนให้แก่บริษัท โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์

เขตอุตสาหกรรมในเมียนมาร์

เขตเศรษฐกิจพิเศษ

Special Economic Zones – SEZs

รัฐบาลเมียนมาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones – SEZs) เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการ และทำให้เกิดการสร้างงานในประเทศ ทั้งนี้ โดยที่เมียนมามีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธ์ศาสตร์ระหว่างอินเดีย จึงเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และศูนย์กลางการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน เมียนมามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ๓ แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่งมีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก สายส่ง ไฟฟ้า และท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับเมืองสำคัญ ๆ ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมาจึงมีโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายสำหรับ ทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนจากต่างประเทศ

เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa Special Economic Zone – TSEZ)

เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงย่างกุ้ง ห่างจากกรุงย่างกุ้ง ๑๔ ไมล์ (๒๓ กิโลเมตร) มีพื้นที่ ๒๔,๐๐๐ เฮกเตอร์ เริ่มโครงการเมื่อพฤศจิกายน ๒๕๕๖ แบ่งเป็น โซน A (๒๐๘ เฮกเตอร์) ซึ่งสร้างเสร็จและเปิดทำการเมื่อกันยายน ๒๕๕๘ โดยพื้นที่ร้อยละ ๙๖ ได้จัดสรรให้นักลงทุนแล้ว จำนวน ๘๙ บริษัท จาก ๑๗ ประเทศที่ยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนใน TSEZ โดยในจำนวนดังกล่าวมีบริษัทไทย ๑๔ แห่ง ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างโซน B แล้ว

TSEZ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พัฒนามากที่สุดในเมียนมา ผู้พัฒนาโครงการ TSEZ ได้แก่ บริษัท Myanmar Japan Thilawa Development Limited (MJTD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเมียนมากับญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ดังนี้

(๑) เมียนมาถือหุ้นร้อยละ ๕๑ (รัฐบาลเมียนมาร้อยละ ๑๐ + กลุ่มบริษัท Myanmar Thilawa SEZ Holdings Public Limited ร้อยละ ๔๑)

(๒) ญี่ปุ่นถือหุ้นร้อยละ ๔๙ (รัฐบาลญี่ปุ่นร้อยละ ๑๐ + กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ Sumitomo/ Marubeni/ Mitsubishi รวมทั้ง JICA ร้อยละ ๓๙)

For Further Information: Thilawa Special Economic Zone - TSEZ



เขตเศรษฐกิจพิเศษ Dawei (Thilawa Special Economic Zone – TSEZ)

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตั้งอยู่ที่ภาคตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ทางตอนใต้ของเมียนมา โครงการแรกเริ่ม (initial phase) ประกอบด้วยการก่อสร้างถนนสองเลน (๑๓๘ กม.) ท่าเรือ เพื่อรองรับเรือ ๑๕,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ ตัน พื้นที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง (labour intensive) โรงไฟฟ้า อาคารที่พักอาศัย และระบบน้ำประปา แผนในอนาคตรวมถึงการสร้างความเชือมโยงทางรถไฟท่อส่งก๊าซและน้ำมัน

เมื่อมีนาคม ๒๕๖๑ รัฐสภาเมียนมาได้อนุมัติการขอกู้เงิน จำนวน ๔.๕ พันล้านบาท จากประเทศไทย โดยสำนักงาน ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. เพื่อปรับปรุง ถนนสองช่องทางเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกับชายแดนไทย-เมียนมา ระยะทาง ๑๓๖ กิโลเมตร ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงถนนถือเป็นการสร้าง South Economic Road ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เชื่อมโยง โฮจิมินห์-พนมเปญ-เสียมราฐ-กรุงเทพฯ-กาญจนบูรี-ทวาย และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการค้าที่เชื่อมโยงทวาย อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป

ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาให้การสนับสนุนการปรับปรุงถนนดังกล่าว ซึ่งจะส่งเสริมการขยายตลาดและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมรายได้จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ของภูมิภาค การสร้างงาน และการขนส่งสินค้า เป็นต้น

For Further Information: Dawei Special Economic Zone



เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ (Kyauk Phyu Special Economic Zone – KSEZ) (Thilawa Special Economic Zone – TSEZ)

เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของรัฐยะไข่ ส่วนแรกของโครงการ KSEZ ครอบคลุมพื้นที่ ๑๐๐ เฮกเตอร์ของเขตอุตสาหกรรม โดยจะเน้นอุตสาหกรรมป่าไม้ การประมง ก๊าซ น้ำมัน และภาคบริการ นอกจากนั้น มีท่าเรือน้ำลึก ความลึก 20-foot equivalent units (TEU) ถือเป็น key priority ของ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน โดยเมื่อปี ๒๕๕๘ CITIC Group (ประกอบด้วย China Harbor Engineering, China Merchants, TEDA Investment และ Yunnan Construction Engineering Group ของจีน และกลุ่ม C.P. ของไทย) ชนะการประมูล มูลค่า ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาท่าเรือและเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว และรัฐบาลเมียนมาชุดที่แล้วของอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้อนุมัติให้ CITIC Group ถือหุ้นร้อยละ ๘๕ ในท่าเรือน้ำลึก และให้ฝ่ายเมียนมาถือหุ้นร้อยละ ๑๕ ในส่วนของเขตอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการแบ่งหุ้นที่แตกต่างกัน

ขณะนี้ รัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างการหารือกับ CITIC Group เรื่องส่วนแบ่งในโครงการท่าเรือ และโครงการเขตอุตสาหกรรมเจ้าผิวก์ของฝ่ายเมียนมา จากร้อยละ ๑๕ เป็นร้อยละ ๓๐ และเมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันเรื่องส่วนแบ่งโครงการฯ แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมียนมา และ CITIC Group จะร่วมกันจัดทำรายงาน environmental impact assessment (EIA) และ social impact assessment (SIA) ต่อไป

For Further Information: Kyauk Phyu Special Economic Zone – KSEZ


โอกาสการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

อุตสาหกรรมด้านการผลิต

อุตสาหกรรมด้านบริการ

-          การสร้างถนน

-          การสร้างสะพาน

-          การสร้างสนามบิน

-          การสร้างท่าเรือ

-          การผลิตไฟฟ้า

-          การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม

-          การผลิตน้ำประปา

-          การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

-          ระบบควบคุมของเสีย

 

-          การผลิตสินค้าไฮเทค

-          การเกษตร

-          ปศุสัตว์และการประมง

-          การเหมืองแร่

-          ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้

 

-          การค้า

-          โลจิสติกส์และการขนส่ง

-          คลังสินค้า

-          โรงแรมและการท่องเที่ยว

-          การศึกษาและสุขภาพ

-          ที่พักอาศัย

-          การสร้างพื้นที่สีเขียว    (green area)

-          ศูนย์นันทนาการและรีสอร์ท

 

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ

เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา
โทรศัพท์ (+๙๖๑) ๒๓๐-๙๐๘๑
แฟกซ์ (+๙๕๑) ๒๓๐-๙๐๘๔
เว็บไซต์
http://www.myanmarthilawa.gov.mm

เขตเศรษฐกิจพิเศษ Kyauk Phyu
โทรศัพท์ (+๙๕๑) ๒๕๓-๐๒๗
เว็บไซต์
http://www.kpsez.org

เขตเศรษฐกิจพิเศษ Dawei
โทรศัพท์ (+๙๕) ๖๗๔๑-๐๒๕๗
อีเมล์
dawei.sez.choffice@gmail.com
เว็บไซต์
http://www.daweisez.gov.mm

 

แหล่งอ้างอิง: Myanmar Investment Guide 2018

การดำเนินธุรกิจการค้าปลีกและการขายส่งในเมียนมา การดำเนินธุรกิจการค้าปลีกและการขายส่งในเมียนมา การดำเนินธุรกิจการค้าปลีกและการขายส่งในเมียนมา

การดำเนินธุรกิจการค้าปลีกและการขายส่งในเมียนมา

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ออกประกาศที่ ๒๕/๒๐๑๘ ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑      (ค.ศ. ๒๐๑๘) เกี่ยวกับธุรกิจการค้าปลีกและการขายส่ง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑.     ภาพรวม เมียนมาอนุญาตให้บริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ หรือร่วมทุนระหว่างชาวเมียนมากับชาวต่างชาติ สามารถดำเนินธุรกิจค่าปลีกและธุรกิจขายส่งในเมียนมา โดยได้กำหนดเงื่อนไข       เงินลงทุนขั้นต่ำ (minimum initial investment) การจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เมียนมา            และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

๒.     สัดส่วนของเงินลงทุนระยะแรก (initial investment capital) บริษัทร่วมทุนที่ชาวเมียนมาถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ ๒๐ จะต้องมีเงินลงทุนระยะแรกสูงกว่าบริษัทร่วมทุนที่ชาวเมียนมาถือหุ้นมากกว่าร้อยละ ๒๐

 

 

เงินลงทุนระยะแรกสำหรับการค้าปลีก

เงินลงทุนระยะแรกสำหรับ

การขายส่ง

บริษัทที่ชาวต่างชาติ      ถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ และบริษัทร่วมทุน ที่ชาวเมียนมาถือหุ้นน้อยกว่า

ร้อยละ ๒๐

 

๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทร่วมทุนที่ชาวเมียนมา ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ ๒๐

๗ แสนดอลลาร์สหรัฐ

๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

หมายเหตุ ไม่รวมค่าเช่าที่ดิน

 

๓.     การจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เมียนมา

                        ๓.๑ อนุญาตให้ชาวเมียนมา ดำเนินธุรกิจค้าปลีกหรือขายส่งได้เองโดยไม่จำกัดเงินลงทุนระยะแรก อย่างไรก็ดี หากบริษัทเมียนมาได้มีการดำเนินธุรกิจแล้ว และเงินลงทุนระยะแรก     มีมูลค่า ๗ แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า ๗ แสนดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ภายใน ๑๕๐ วัน

๓.๒ บริษัทที่จดทะเบียนภายใต้ประกาศดังกล่าวและประสงค์จะเปิดสาขาใหม่ จะต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์เมียนมาให้ทราบล่วงหน้า ๙๐ วัน

    ๓.๓ บริษัทที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจค้าปลีกหรือขายส่งภายใต้ประกาศดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เมียนมา โดยมีเอกสารประกอบ ได้แก่

(๑)   ใบรับรองการจดทะเบียนบริษัท

(๒)     สำเนาใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากคณะกรรมการลงทุนแห่งเมียนมา

(๓)     หนังสือรับรองจากคณะกรรมการพัฒนาเมือง หรือคณะกรรมการพัฒนาเขต ของรัฐหรือภาคที่เกี่ยวข้องในเมียนมา

(๔)   รายการสินค้าที่จะขายผ่านการค้าปลีกหรือการขายส่ง

(๕)     แผนธุรกิจที่มีรายละเอียดเงินลงทุนระยะแรก พื้นที่ลงทุน และขนาดของพื้นที่ที่จะใช้ (occupied area) เป็นตารางเมตร

๔.     ข้อกำหนดสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

(๑)   พื้นที่ทำการค้าปลีกหรือการขายส่ง ซึ่งรวมถึง minimarket และร้านสะดวกซื้อต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า ๙๒๙ ตารางเมตร

(๒)   ห้ามดำเนินธุรกิจนอกเวลา วัน หรือในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการด้านการพัฒนาของภาค รัฐ เมือง หรือ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง

(๓)   ห้ามกระจายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือต่ำกว่ามาตรฐาน และขัดต่อกฎหมาย    ที่เกี่ยวข้อง

(๔)   ห้ามขายสินค้าผิดกฎหมาย

()  บริษัทมีหน้าที่ในการให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เมียนมา            เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบบริษัท และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

๕.     รายการสินค้าอันดับต้นที่บริษัทต่างชาติ และบริษัทร่วมทุนระหว่างชาวต่างชาติกับชาวเมียนมาได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิการค้าปลีกและการขายส่ง

(สถานะ : ๒๖ กรกฏาคม ๒๕๖๑) ได้แก่

๑.     สินค้าอุปโภคบริโภค (ซึ่งรวมถึงเสื้อผ้า นาฬิกา และเครื่องสำอาง)

๒.     อาหาร ซึ่งรวมถึง

-          สินค้าเกษตร (ยกเว้นสินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าและค้าขาย)

-          สินค้าประมง

-          สินค้าจากสัตว์ (animal products)

-          อาหารสำเร็จรูป

-          เครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ

-          สุราท้องถิ่น (domestically manufactured liquors)

๓.     สินค้าใช้ในบ้าน (ซึ่งรวมถึงเซรามิค เครื่องดินเผา และเครื่องแก้ว)

๔.     สินค้าใช้ในห้องครัว

๕.     ยา อุปกรณ์แพทย์ และอุปกรณ์โรงพยาบาล

๖.     อาหารสัตว์และยาสำหรับสัตว์

๗.     เครื่องเขียน

๘.     เฟอร์นิเจอร์

๙.     เครื่องกีฬา

๑๐.      เครื่องสื่อสาร (ซี่งรวมถึงกล้องและโทรศัพท์)

๑๑.      สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

๑๒.     วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง

๑๓.      สินค้าไฟฟ้า

๑๔.      เคมีพันธ์เพื่ออุตสาหกรรม

๑๕.     เมล็ดพันธุ์ และวัสดุด้านการเกษตร

๑๖.     เครื่องจักรเพื่อใช้ในฟาร์ม

๑๗.     เครื่องจักรและ accessories ประเภทต่าง ๆ

๑๘.     รถจักรยานประเภทต่าง ๆ

๑๙.     รถจักรยานยนต์และ accessories ที่เกี่ยวข้อง

๒๐.     ชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์และเครื่องจักรหนัก (heavy machineries)

๒๑.     ของเล่นเด็ก

๒๒.     เครื่องตกแต่งบ้าน (ซึ่งรวมถึงดอกไม้และพืช)

๒๓.     ของที่ระลึกและหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ

๒๔.     งานศิลป์ เครื่องดนตรี และ accessories (ยกเว้นโบราณวัตถุ)

ข้อมูลเพิ่มเติม () สินค้าท้องถิ่นในรายการดังกล่าวซึ่งรวมอยู่ในธุรกิจการค้าปลีกและการขายส่งจะได้ปรับสถานะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นในการค้าขาย () บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอนของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า สินค้าและการค้าขาย () รายการสินค้าดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาเป็นระยะ ๆ และอาจมีการปรับเปลี่ยน ตามความเหมาะสม

 

*********************************

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง

สิงหาคม ๒๕๖๑

กฎหมายบริษัทเมียนมา (Myanmar Companies Law)  

๑.     ภาพรวม กฎหมายบริษัทเมียนมามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ และขยายสาขาที่นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนและเป็นเจ้าของได้ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทท้องถิ่นได้ร้อยละ ๓๕ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถ      ถือหุ้นในสาขาที่เดิมสงวนให้แก่นักลงทุนท้องถิ่นเท่านั้น อาทิ การค้า (trading) การกระจ่ายสินค้า (distribution) และประกันภัย

๒.     การจดทะเบียนบริษัทออนไลน์และการเปิดสำนักงานในเมียนมา ภายใต้กฎหมายบริษัทเมียนมาบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในเมียนมาจะต้องจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Myanmar Companies Online (MyCo) โดยบริษัทที่จดทะเบียนในเมียนมา ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไป จะต้องมี Director อย่างน้อย ๑ คน ที่พำนักในเมียนมาเป็นประจำ วัตถุประสงค์       ของการให้บริษัททุกรายจดทะเบียนออนไลน์ เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทไหน active และบริษัทไหน inactive ส่วนวัตถุประสงค์ของการมีเงื่อนไขเรื่องการพำนักในเมียนมา เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติมาเปิดสาขาในเมียนมา

๓.     การปรับเปลี่ยนข้อกำหนดเรื่องโครงสร้างบริษัท กฎหมายบริษัทเมียนมาปรับลดข้อกำหนดเรื่องจำนวนผู้ถือหุ้น โดยอนุญาตให้บริษัทมีผู้ถือหุ้น (shareholder) เพียง ๑ คน เนื่องจากฝ่ายเมียนมาเห็นว่า มีบริษัทบางรายที่มีผู้ถือหุ้น just for form ตามข้อกำหนดเดิมที่ต้องมีผู้ถือหุ้นมากกว่า ๑ คน บัดนี้ บริษัทบางรายจึงสามารถโอนหุ้นให้เจ้าของหลักเป็นเจ้าของเพียงคนเดียวได้แล้ว

๔.     ผลประโยชน์ตอบริษัทขนาดเล็ก บริษัทที่มีลูกจ้างน้อยกว่า ๓๐ คน และมีรายได้ต่อปี (aggregate annual revenue) น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ จั๊ต (ประมาณ ๓๑๘,๔๗๑ ดอลลาร์สหรัฐ) จะถูกยกเว้นจากข้อกำหนดด้านการบริหารบริษัทหลายประเด็น อาทิ การจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี (annual general meeting) การบันทึกเงินเข้าและรายจ่ายทุกรายการ (records of all money received and expended) และการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบ (auditor) โดยมีวัตถุประสงค์     เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดเมียนมา

๕.     ข้อสรุป กฎหมายบริษัทเมียนมาเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจเมียนมา และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นผ่านระบบดิจิตอล/ออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนและประสิทธิภาพในการตรวจสอบข้อมูลบริษัทต่าง ๆ นอกจากนี้ กฎหมายบริษัทเมียนมายังส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติรายใหม่เข้ามาลงทุนในเมียนมาในระยะยาว ด้วยการเปิดสำนักงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ชาวเมียนมาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของบริษัทต่างชาติ และได้รับเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย ตลอดจนส่งเสริมบริษัทขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดในตลาดเมียนมาได้

 

*************************************

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา

พฤศจิกายน ๒๕๖๑


โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา

๑. ภูมิหลัง

เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ ๑ ชั่วโมง เริ่มโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยความร่วมมือของรัฐบาลญี่ปุ่นและเมียนมา ซึ่งสองฝ่ายได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของติละวา เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อน การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ ท่าเรือ และถนน

ส่วนแรกของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา หรือโซน A เปิดทำการเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๘ มีพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๒,๔๐๐ ไร่) และมีบริษัท Myanmar Japan Thilawa Development Limited (MJTD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเมียนมากับญี่ปุ่น เป็นผู้บริหารการลงทุน โดยเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘

ส่วนที่สองของโครงการฯ หรือโซน B (ซึ่งมีพื้นที่อยู่ติดกับโซน A) จะเริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๖๐ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ ๔ หมื่นล้านเยน โดยโซน B อาจได้รับการขยายพื้นที่จากเดิมที่ตั้งไว้ ๕๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่) เป็น ๗๐๐ เฮกตาร์ (ประมาณ ๔,๒๐๐ ไร่)

สัดส่วนการถือหุ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวามี ดังนี้

  • (๑) เมียนมาถือหุ้นร้อยละ ๕๑
    (รัฐบาลเมียนมาร้อยละ ๑๐ + กลุ่มบริษัท Myanmar Thilawa SEZ Holdings Public Limited ร้อยละ ๔๑)

  • (๒) ญี่ปุ่นถือหุ้นร้อยละ ๔๙
    (รัฐบาลญี่ปุ่นร้อยละ ๑๐ + กลุ่มบริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ Sumitomo/ Marubeni/ Mitsubishi รวมทั้ง JICA ร้อยละ ๓๙)

๒. จุดเด่นของโครงการ

โดยที่กรุงย่างกุ้งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมียนมา และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปเพียง ๑ ชั่วโมง ส่งผลให้นักลงทุนในติละวาได้รับประโยชน์จากระยะทางที่ใกล้เมือง รวมทั้งสิทธิพิเศษต่าง ๆ อาทิ ความสะดวกรวดเร็วในขั้นตอนการลงทุนและดำเนินการ สัมปทาน และการบริการพิเศษ นอกจากนี้ นักลงทุนที่ส่งออกร้อยละ ๗๕ ของการผลิตจะได้รั้บการยกเว้นภาษี ๗ ปี และนักลงทุนที่เน้นตลาดเมียนมาเป็นหลักจะได้รับการยกเว้นภาษี ๕ ปี และยังมีสิทธิเช่าที่ดินได้ ๕๐ ปี โดยสามารถขยายระยะเวลาเช่าไปอีก ๒๕ ปี ตลอดจนสิทธิในการลดภาษีสำหรับการฝึกอบรมบุคลากร และการทำงานวิจัย

เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวามีศักยภาพในการเป็น gateway สู่การลงทุนในภูมิภาคให้แก่ต่างประเทศ (โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น)

โครงการฯ จะสามารถสร้างงานให้แก่ชาวเมียนมาได้ถึง ๕ – ๖ หมื่นคน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ได้รับการเน้นย้ำเพื่อให้ติละวาเป็นต้นแบบของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยั่งยืนและสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน (ขณะนี้ เมียนมามีแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก ๒ แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเมียนมา – ญี่ปุ่น – ไทย และเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิ้ว ซึ่งรัฐบาลเมียนมาได้ให้สมปทานก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิ้วแก่ ๖ บริษัท เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ ประกอบด้วยบริษัทจีน ๕ แห่ง และบริษัทไทย ๑ แห่ง คือ CP)

คณะกรรมการบริหารจัดการเขต ศก. พิเศษติละวาจะพิจารณาข้อเสนอโครงการของนักลงทุนจากปัจจัยด้านคนงาน เงินลงทุน ปริมาณสินค้าที่จะส่งออก การนำเทคโนโลยีใหม่เข้าเมียนมา ชื่อเสียงของนักลงทุน ปริมาณน้ำและไฟฟ้าที่จะใช้

๓. สถานะปัจจุบัน

ขณะนี้ มีบริษัทจำนวน ๗๙ แห่งจาก ๑๗ ประเทศร่วมลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาแล้ว เช่น เมียนมา ไทย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน สิงคโปร์ เป็นต้น โดยมีบริษัทจากไทย ๑๒ บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดถัดจากญี่ปุ่น (๓๙ บริษัท) โดยมีทั้งบริษัทที่ไทยถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ และบริษัท ร่วมทุนระหว่างไทยกับประเทศอื่น ได้แก่

  • (๑) Millcon Thiha GEL (อุปกรณ์ก่อสร้าง)
  • (๒) Standard Urai (สีและกล้อง)
  • (๓) Pacific-PSP Syntech Co. Ltd. (น้ำมันหล่อลื่น)
  • (๔) Fujitrans Logistics (Myanmar) Co. Ltd. (โลจิสติกส์)
  • (๕) A&N Foods (Myanmar) Co. Ltd. (อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง)
  • (๖) Indorama Ventures Packaging (Myanmar) Ltd. (บรรจุภัณฑ์พลาสติก)
  • (๗) Unimit Engineering (Myanmar) Co. Ltd. (ชิ้นส่วนเครื่องจักร)
  • (๘) Myanmar Wacoal Co. Ltd. (ชุดชั้นในสตรี/สิ่งทอ)
  • (๙) Myanmar Ajinomoto Food Co. Ltd. (เครื่องปรุงอาหาร)
  • (๑๐) S.P. Petpack Inter Group (Myanmar) Co. Ltd. (สินค้าพลาสติก)
  • (๑๑) Kim Pai Printing and Packaging Co. Ltd. (สินค้ากระดาษ)
  • (๑๒) Sci Metal Tech (Myanmar) Co. Ltd. (สายส่ง) ส่วนบริษัทจากญี่ปุ่นมี เช่น Oji Holdings Corporation และ Seiji (Myanmar) Co. Ltd. เป็นต้น

พัฒนาการล่าสุด

  • (๑) การประชุมประสานงานเขต ศก. พิเศษติละวาครั้งที่ ๙ (the 9th Coordinating Meeting for Thilawa SEZ) ซึ่งเมียนมาและญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม ได้จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ที่กรุงเนปิดอว์ โดยสองฝ่ายได้ลงนาม MoU เพื่อขับเคลื่อนส่วนที่สองของโครงการฯ (โซน B)

  • (๒) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาได้เตรียมพื้นที่ ๘๐ เอเคอร์สำหรับเป็นที่พักอาศัย (residential area) ซึ่งรวมถึงโรงแรม หอพักคนงาน ห้างสรรพสินค้า และธนาคาร โดย ๙ เอเคอร์ได้จัดสรรให้เป็นอาคารที่พักอาศัยแบบคอนโดมิเนียม และจะใช้ระบบ ร่วมทุน (joint venture system) ในการสร้างอาคารดังกล่าว


แหล่งอ้างอิง:
  • ข้อมูลด้านการค้าการลงทุน. ที่มา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, คู่มือประกอบธุรกิจสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://toi.boi.go.th. [2 กรกฎาคม 2556]
  • โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา. ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ [29 มกราคม 2560]